ภาคเอกชน มองผลการเลื่อนสถานะสู่ Tier2 นำไปสู่การปลดใบเหลือง IUU แก้ไขปัญหาสินค้าประมงไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2016 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเปิดเผยว่า การที่ไทยได้รับการเพิ่มสถานะจากระดับ Tier3 เป็น Tier2 (Watch list) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report 2016) ถือเป็นความหวังที่ไทยจะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงต่อสหภาพยุโรป (EU) ในการประเมินสถานะของไทยในประเด็น IUU Fishing (การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม) ที่จะมีการประกาศผลการประเมินในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีความตั้งใจอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ EU

"การที่เราได้รับการเพิ่มสถานะขึ้นจาก Tier 3 มาสู่ Tier2 (Watch list) อาจจะไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าการค้าสินค้าประมงไทยมากนัก เพราะถึงเราจะอยู่ Tier3 เราก็ยังขายสินค้าประมงได้ ยังส่งออกได้ แต่เราคงได้ประโยชน์ในเรื่องภาพลักษณ์ทางสังคม มาตรการ Tier เป็นมาตรการทางสังคม ไม่ได้แปลว่าเราจะได้การลดหย่อนภาษีการค้าแต่เป็นการฐานะทางด้านอื่นๆทางสังคมให้ไทย แต่ก็ถือว่าดีกว่าที่จะอยู่ Tier3 ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเป็น Tier3 นานๆ ผู้ซื้อในต่างประเทศก็จะใช้เป็นข้ออ้างไม่ซื้อสินค้าจากไทย แต่เมื่อได้เพิ่มสถานะเป็น Tier2 (Watch list) แสดงว่ามีการพัฒนา มีความพยายามในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง...สหรัฐฯมองเห็นความพยายามตรงนี้"นายพรศิลป์ กล่าว

ในส่วนของมูลค่าการค้านั้น มองว่าอาจจะไม่ได้ดีกว่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าภาคการผลิตกุ้งจะฟื้นตัวจากการแก้ปัญหา โรคระบาด EMS ในกุ้งได้อย่างถาวรทำให้เราสามารถส่งออกได้ดีขึ้น แต่ทว่าราคากุ้งรวมทั้งราคาทูน่าอาจจะยังไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่เนื่องจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ทั้งสหรัฐฯ ยุโรปเพิ่งมีปัญหา Brexit คาดว่าราคาสินค้าประมงของไทยในตลาดโลกก็จะยังไม่ดีมาก และคาดการณ์ราคายาก

นายพรศิลป์ กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นไปได้ไทยต้องเอาเรื่องที่ได้รับการเพิ่มสถานะไปเจรจา IUU Fishing กับ EU ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าด้วย เพราะ EU ก็มีประเด็นการค้ามนุษย์ใน IUU ด้วย

"ถ้าเราเอาเรื่อง Tier ไปอธิบายเพิ่ม เอาไปอ้างอิงให้ EU เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของไทย น่าจะทำให้เรามีความหวังมากขึ้นที่จะได้รับการปลดใบเหลืองจากปัญหา IUU Fishing..ว่าปัญหานี้เราดีขึ้น ส่วนจะได้รับการปลดใบเหลือง IUU หรือไม่ EU ต้องพิจารณา"นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ EU จะดูเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและต้องบังคับให้ดี เพราะกรณีของสหรัฐฯถึงแม้จะเลื่อนสถานะให้ไทยแต่ก็ยังมี Comment ว่า การบังคับใช้กฎหมายของไทยยังไม่ 100% แต่ก็ถือว่าทำได้ดีแล้ว มีความพยายามก็เพิ่มสถานะให้

เมื่อถามถึงเปรียบเทียบความยากง่ายระหว่างการแก้ปัญหา Tier กับ IUU นายพรศิลป์ กล่าวว่า ยากทั้งคู่ แต่ IUU กินวงกว้างกว่า กินไปถึงห่วงโซ่การผลิต การจับปลา พ่วงปัญหาแรงงาน ขณะที่ปัญหา Tier ประเมินจากเรื่องแรงงานอย่างเดียวทำให้ดูเหมือนการแก้ปัญหา Tier จะง่ายกว่า แต่เวลาทำจริงๆ ก็มีรายละเอียดยิบย่อย ซึ่งถ้าไทยหลุดพ้นปัญหา IUU เชื่อแน่ว่าภาพลักษณ์ไทยเราจะดีขึ้นอีกมาก

"แต่ถ้าเราจะหลุดใบเหลือง IUU ได้ ต้องดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.มีมาตรการจับปลาที่ยั่งยืน มีกฎหมายควบคุมดูแลหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมาย Perfect หรือไม่ มีการลักลอบจับปลาหรือไม่ มีการติดตามผลการดำเนินงานหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไทยต้องทำงานใกล้ชิดกับทางEU

เรื่องที่ 2 ที่เกิดขึ้นพร้อมกันแต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือ ภาคเอกชนไทยในนาม Thai Sustainable Fisheries Roundtable (TSFR) ซึ่งประกอบด้วย 8 สมาคม คือ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รวมตัวกันไปทำการเจรจาระยะยาวกับทางเอกชนของ EU ผ่าน NGO ผู้ซื้อในต่างประเทศวางมาตรฐานในการจับปลาที่ยั่งยืน ซึ่งเราสามารถนำไปอ้างอิงกับ EU ได้เช่นกันว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้แค่ระยะสั้นๆ แต่ระยะยาวมีการวางแผน มีการทำที่ทะเลฝั่งอันดามัน และตอนนี้กำลังทำฝั่งอ่าวไทย ในอีก 1-2 ปีก็จะออกมาเป็นมาตรฐานที่แท้จริงและเอกชน EU ก็เห็นด้วย และรัฐบาลไทยก็ให้เงินสนับสนุนผ่านหน่วยงานด้านเกษตร อันนี้เป็นอีกด้านหนึ่งที่เราใช้เจรจากับ EU ในประเด็น IUU Fishing ได้ด้วย

"ผมว่าเรามีโอกาสหลุดจากปัญหา IUU นะ หรือไม่ก็ดีขึ้น ถ้าเอาทั้งการแก้ปัญหา Tier กับที่เราทำระยะยาวกับเอกชน EU ไปอ้างอิงให้เขาเห็นความตั้งใจแก้ปัญหาของไทย"นายพรศิลป์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ