(เพิ่มเติม) กกพ.สรุปยอดยื่นขายไฟฟ้าชีวมวลพื้นที่ชายแดนใต้ 89 โครงการ 593.5 MW สูงกว่ายอดรับซื้อกว่า 16 เท่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2016 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยยอดผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล จำนวนไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ (MW) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เพิ่งปิดรับยื่นข้อเสนอไปเมื่อวานนี้ แม้จะมีผู้ยื่นเสนอเข้ามามากกว่า 100 โครงการ แต่เนื่องจากบางรายมีเอกสารไม่ครบ ทำให้คงเหลือยอดทั้งหมดรวม 89 โครงการ ปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งรวม 593.50 เมกะวัตต์ สูงกว่าปริมาณที่รับซื้อกว่า 16 เท่า ขณะที่กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคในวันที่ 22 ก.ค.นี้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล หนึ่งในกกพ. และโฆษก กกพ. กล่าวว่า การเปิดรับยื่นข้อเสนอดังกล่าวมีผู้ประกอบการสนใจยื่นข้อเสนอเข้ามาทั้งสิ้น 108 โครงการ แต่เนื่องจากมีเอกสารไม่ครบ 19 โครงการ ทำให้คงเหลือยอดทั้งหมด 89 โครงการ คิดเป็นปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งรวม 593.50 เมกะวัตต์ โดยหลังจากปิดรับยื่นข้อเสนอแล้วกกพ. จะทำการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่น ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคภายในวันที่ 22 ก.ค.59

สำหรับวิธีการประเมินและคัดเลือกคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้านั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ การประเมินคุณสมบัติรวมทั้งข้อเสนอด้านเทคนิค และการเมินข้อเสนอด้านราคา ซึ่งผู้ยื่นต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น เช่น เป็นโครงการที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่เป็นโครงการที่พัฒนามาจากโครงการโรงงานผลิตไฟฟ้าเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้วไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

ควบคู่กับข้อเสนอด้านเทคนิคที่ได้ยื่นมาต้องอยู่เกณฑ์การประเมินที่ได้กำหนดไว้ในแนบท้ายประกาศนั้นให้ครบถ้วน ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ ความครบถ้วนของข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ จุดเชื่อมโยงกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง ด้านที่ดิน ด้านเทคโนโลยี และแหล่งเงินทุนโครงการ ซึ่งหากคุณสมบัติของผู้ยื่นไม่เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศ ผู้ยื่นรายนั้นจะไม่ได้รับการประเมินในขั้นตอนต่อไป

"กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th แล้วจึงเริ่มการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 2 คือ การพิจารณาข้อเสนอด้านราคา และจะประกาศผลรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2559 และให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการไปดำเนินการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 เพื่อสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันภายในเดือนธันวาคม 2561"นายวีระพล กล่าว

แหล่งข่าวจากกกพ. กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการดังกล่าวมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยการปิดรับข้อเสนอเมื่อวานนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ปรากฎว่ามีผู้สนใจเข้ามายื่นข้อเสนอจำนวนมาก

"เมื่อวานนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ปิดรับข้อเสนอปรากฎว่ามากันเยอะมากทำให้ยอดผู้มายื่นรวมน่าจะ 100 กว่าราย ถ้ารายละ 5 เมกะวัตต์ ก็ 500 เมกะวัตต์แล้ว ขณะที่เราซื้อเพียง 36 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่สูงมาก"แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาทางด้านเทคนิค จะพิจารณาทั้งในส่วนของที่ดิน ,สายส่งรองรับ,เทคโนโลยี ,เชื้อเพลิง ,การสนับสนุนจากสถาบันการเงิน เป็นต้น ส่วนการพิจารณาเปิดซองราคานั้น จะใช้วิธีการเรียงลำดับราคา โดยเรียงลำดับผู้ยื่นที่เสนออัตราส่วนลดเป็นร้อยละของราคารับซื้อไฟฟ้าในส่วนของอัตรา FiT ในส่วนคงที่ (FiTF) มากที่สุดก่อน และหากในกรณีที่มีผู้ยื่นเสนออัตราส่วนลดเท่ากัน ผู้ที่ยื่นก่อนจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ออกประกาศเรื่องการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (ประเภทชีวมวล) พ.ศ.2559 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี))

โดยกฟภ. เปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 10-31 พ.ค.59 พบว่ามีผู้สนใจมาตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าราว 290 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวมสูงถึง 1,800 เมกะวัตต์ ขณะที่หลังการปิดรับยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าแล้ว กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค วันที่ 22 ก.ค.59 ,เปิดซองข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา วันที่ 8 ส.ค.59 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก วันที่ 11 ส.ค.59 ขณะที่กฟภ.และผู้ที่ได้รับคัดเลือกลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 9 ธ.ค.59

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT ดังกล่าวมีทั้งหมด 2 ระยะ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.61 หลังจากรับซื้อในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นระยะที่ 1 แล้วเสร็จ ก็จะเปิดรับซื้อในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

อนึ่ง เบื้องต้นพบว่ามีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่งได้แสดงความสนใจเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าว ได้แก่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ,บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ,บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) ,บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ,บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ,บมจ.เฟอร์รั่ม (FER) ,บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) ,บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เป็นต้น


แท็ก ผลิตไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ