ครม.อนุมัติปรับเงื่อนไขโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2016 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.พ.58 เกี่ยวกับระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ตามโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร จาก "ให้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่ปีที่กู้ยืม" เป็น "การกำหนดระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นตามโครงการ แยกตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน คือ หากเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย กำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 4 ปี และหากเป็นเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร กำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี" ในกรอบวงเงินสินเชื่อปีละ 3,000 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้จากวงเงิน 10,000 ล้านบาท ของเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เงินเกี๊ยว) เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อยผู้กู้ชำระในอัตราร้อยละ 2 มีโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแนวทางปฏิบัติตามโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการปลูกอ้อยอย่างครบวงจร ซึ่งรวมถึงระยะเวลาโครงการ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 และสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้ตามโครงการ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2561 คุณสมบัติของผู้ขอกู้ พื้นที่ดำเนินการ รูปแบบการกู้เงินตามโครงการ หลักประกันเงินกู้ เอกสารประกอบการขออนุมัติโครงการ ขั้นตอนการเข้าร่วมและอนุมัติโครงการ การชำระหนี้เงินกู้ และการติดตามและรายงาน

และเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระอัตราดอกเบี้ยส่วนเกินเพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปพัฒนาการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพครบวงจร ให้กรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 922.50 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการ แบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้ 1.กรณีกลุ่มผู้กู้เป็นเกษตรกรรายบุคคล ดอกเบี้ยโครงการ = (MRR – 2%) หรือ = 5% โดยเกษตรกรจ่าย 2% และรัฐชดเชยส่วนต่าง 3% 2.กรณีผู้กู้เป็นกลุ่มเกษตรกร ดอกเบี้ยโครงการ = (MLR – 1%) หรือ = 4% โดยเกษตรกรจ่าย 2% และรัฐชดเชยส่วนต่าง 2% และ 3.กรณีการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ขยายการให้สินเชื่อเพิ่มเติมในการจัดซื้อรถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ และรถบรรทุกอ้อย เห็นควรให้ขยายสินเชื่อเฉพาะรถคีบอ้อย ส่วนรถแทรกเตอร์และ รถบรรทุกอ้อย เห็นควรใช้อัตราดอกเบี้ย (MLR – 1%) หรือ = 4% และรัฐไม่ต้องชดเชยส่วนต่าง เนื่องจากรัฐได้จัดหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ