รฟม.เผย ITD ซื้อซองสายสีชมพู-สีเหลืองเป็นราย 4/สายสีส้มเปิดขายซอง 15 ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 13, 2016 18:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่ รฟม.ได้ประกาศขายเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท ไปตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.59 แล้วนั้น ล่าสุด บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเม้นต์ (ITD) ได้เข้ามาซื้อซองประกวดราคาเป็นรายที่ 4 จากวันแรกที่มีเอกชน 3 รายซื้อไปแล้ว คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH)

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21.2 กม. วงเงิน 79,726.43 ล้านบาท รฟม.จะเปิดขายเอกสารประกวดราคาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-1 ส.ค.59 โดยยื่นข้อเสนอวันที่ 31 ต.ค.59 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2560 ทั้งนี้ ในส่วนของการเดินรถสายสีส้มจะพิจารณาเปิดให้เป็นรูปแบบ PPP เป็นรายเดียวตลอดสาย ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อและไม่ยุ่งยากเหมือนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท อยู่ในระหว่างเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ ขณะที่การเดินรถวงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทนั้นจะยึดหลักการเดินรถต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยใช้บรรทัดฐานของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมบอร์ด รฟม. ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการแก้ไขในหลายมาตรา เช่น การให้ รฟม.สามารถนำพื้นที่จากการเวนคืนมาดำเนินการธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้ ภายหลังจากใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ครบถ้วนแล้ว เพื่อหารายได้เพิ่มและนำมาพัฒนากิจการรถไฟฟ้าได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศ และจะช่วยลดภาระของประชาชนในเรื่องค่าโดยสารที่จะไม่สูงมากด้วย

ส่วนประเด็นการแต่งตั้งรักษาการผู้ว่าฯ รฟม.กรณีตำแหน่งผู้ว่าฯ ว่าง จากเดิมที่ให้ตั้งรองผู้ว่าฯ ที่อาวุโสสูงสุด มาเป็นให้อำนาจบอร์ดพิจารณาแต่งตั้งจากรองผู้ว่าฯ ที่เหมาะสม ซึ่งจะเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ, การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งจะปรับทุกๆ 2 ปี โดยอ้างอิงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากเดิมที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบก่อนประกาศใช้ มาเป็นให้อำนาจบอร์ด รฟม.พิจารณาเห็นชอบแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ