กลุ่มมิตรผล มองแนวโน้มราคาน้ำตาลยังสูงขึ้นหลังผลผลิตลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2016 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล ระบุว่า ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาเอลนิญโญ่และลานิญญาในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกลดลง โดยล่าสุดราคาน้ำตาลทรายซื้อขายล่วงหน้าตลาดนิวยอร์ก สัญญาส่งมอบเดือน ต.ค.59 อยู่ที่ 19.91 เซนต์ต่อปอนด์ ปรับขึ้นมาจากช่วงต้นปีที่อยู่ในระดับ 14 เซนต์ต่อปอนด์

"ตั้งแต่ปีที่แล้วไทยเจอเอลนิญโญ่ บราซิลก็เจอลานิญญา จะสลับกับแบบนี้ตลอด ผลผลิตทั้งเราและบราซิลต่างก็ลดลงทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดขยับสูงขึ้น" นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ในปีนี้คาดว่าไทยจะส่งออกน้ำตาลทรายได้เพียง 7-8 ล้านตัน จากปีก่อนที่ประมาณ 10 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตอ้อยฤดูการผลิต 58/59 อยู่ที่ 95 ล้านตัน ลดลงจากปี 57/58 ที่อยู่ในระดับ 105 ล้านตัน ส่วนราคาอ้อยในช่วงที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ตันละ 1,000 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่ตันละ 900 บาท

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยมากขึ้นตามนโยบายรัฐบาลเพราะได้ราคาดี มีราคาอ้อยขั้นต้นที่รัฐบาลอุดหนุน กก.ละ 160 บาท ที่สำคัญผลผลิตที่ได้มีตลาดรองรับทั้งหมด ทั้งการผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อการบริโภค ผลิตพลังงานทดแทน ผลิตเป็นของใช้ในบ้าน เช่น ปาติเกิ้ลบอร์ด

แต่ปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในขณะนี้ คือ เกษตรกรมีอายุมากขึ้น เฉลี่ยอายุ 55-65 ปี ขณะที่แรงงานอ้อยค่อนข้างขาดแคลน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริม การทำโมเดิร์นฟาร์ม มีระบบ GPS รถแทรกเตอร์ติดแอร์ ระบบการให้น้ำแบบน้ำหยดจะทำให้ต้นทุนผลิตลดลง 25% ผลตอบแทนต่อไร่สูงขึ้นจะทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาทำอาชีพเกษตรกร ซึ่งมิตรผลสามารถดึงคนรุ่นใหม่กลับมาทำอาชีพเกษตรกรได้แล้ว 700-800 คน

ด้านนายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่าสำหรับพื้นที่ปลูกอ้อยปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยเคยสูงสุดที่ 105 ล้านตัน เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ปีที่ผ่านมามีปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลงเหลือ 95 ล้านตัน ขณะที่ต้นปีนี้ก็ยังเผชิญภาวะภัยแล้งก็อาจจะทำให้ผลผลิตที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ลดลงต่ำกว่า 95 ล้านตัน ขณะที่บราซิลเองการผลิตไม่โตขึ้นเนื่องจากช่วงที่ไทยเจอภาวะเอลนิญโญ่ บราซิลก็เผชิญลานิญญ่า ทำให้ปริมาณอ้อยของบราซิลน่าจะนิ่งจากปกติจะอยู่ที่ 600 ล้านตันอ้อย โดยผลผลิตครึ่งหนึ่งนำไปผลิตเอทานอล และอีกครึ่งนึงผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภค ขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหนราคาอะไรดีกว่ากัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ