(เพิ่มเติม) โตโยต้า ปรับลดยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ลง 7.5% มาที่ 7.4 แสนคัน หลังศก.ยังชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2016 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ จะมียอดขายรวมทั้งหมดที่ 740,000 คัน ลดลง 7.5% หลังครึ่งแรกของปี 59 มียอดขายรวม 367,481 คัน ลดลง 0.4% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

"แม้ว่าในครึ่งปีหลังจะมีแรงบวกจากนโยบายของภาครัฐ การท่องเที่ยว ภาคบริการ และการลงทุนจากภาคเอกชน รวมถึงการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่จากหลายค่ายรถยนต์ จะเริ่มส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ หากแต่เศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาอย่างช้านาน รวมถึงกำลังซื้อที่จำกัด และความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว"นายทานาดะ ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายทานาดะ ยังแสดงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยโดยยืนยันว่า ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโตโยต้า และเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้โตโยต้ายังมุ่งมั่นจะยกระดับขีดความสามารถของคนไทยที่มีต่อการผลิตให้เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเชื่อถือในระดับสากลทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ปัจจุบันคนไทยเข้ามาเป็นหลักในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านวิศวกรรมการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภูมิภาคนี้

"เรายังคงมุ่งเน้นการส่งเสริมการเพิ่มใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น ด้วยการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนโตโยต้าในประเทศไทย ตลอดจนการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการผลิตระดับสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย" นายทานาดะ ระบุ

สำหรับแผนงานของโตโยต้านั้น ยังคงมุ่งรักษาแชมป์ทั้ง 3 ตลาดในประเทศไทย คือ ตลาดรวมรถยนต์ทุกประเภท ตลาดกระบะขนาด 1ตัน และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ โดยประมาณการขายรถยนต์โตโยต้าทั้งปีที่ 240,000 คัน โดยครึ่งปีแรกขายได้ 109,078 คัน ลดลง 11.4% เป็นผลมาจากหยุดการผลิตรถยนต์ VIOS ในช่วง 4 เดือนแรกของปี แต่ขณะนี้กลับมาผลิต VIOS ได้ตามปกติจึงมั่นใจว่าในครึ่งปีหลังจะทำได้ตามเป้าแน่นอน

ด้านกำลังการผลิต โดยปกติโตโยต้ามีกำลังการผลิต 770,000 คันต่อปี แต่ตอนนี้ใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60-70% โดยเคยใช้กำลังผลิต 100% ตอนที่มีโครงการรถยนต์คันเมื่อปี 54

ส่วนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆนั้น โตโยต้าจะยังคงทำอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนส.ค.นี้มีแผนจะเปิดตัวรถยนต์เอนกประสงค์ MPV รุ่นใหม่ 1 รุ่น

ขณะเดียวกัน ยังคงมุ่งหน้าทำตลาดรถยนต์ Hybrid ต่อเนื่อง ซึ่งโตโยต้าจะยังคงมีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็น Hybrid ต่อไป พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการทำตลาดรถยต์ใช้พลังงานไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การจะทำตลาดรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้านั้น จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเนื่องจากเป็นการลงทุนค่อนข้างสูงและจำเป็นต้องมีความพร้อมเรื่องแหล่งพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะตามมา ซึ่งการตั้งสถานีบริการนั้นทั้งรัฐและเอกชนคงต้องร่วมมือกัน ซึ่งเชื่อว่าเอกชนพร้อมลงทุนอยู่แล้ว แต่หน้าที่ในการจัดหาแหล่งพลังงานควรเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐในการศึกษาแหล่งพลังงานที่เหมาะสม

"เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ประเทศไทยควรค่อยเป็นค่อยไป และควรศึกษาจากประเทศที่มีการทำตลาดแล้วว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง"นายทานาดะ กล่าว

พร้อมกันนี้ โตโยต้า ยังได้ชี้แจงกรณีหยุดจ้างงานในโครงการ"จากด้วยใจ"ว่า เนื่องจากปัจจุบันทั้งอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์กว่า 60% เป็นการส่งออก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยโตโยต้าก็ส่งออกมากกว่า 60% ในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยตลาดหลักของโตโยต้าคือ ตะวันออกกลาง นอกจากนี้ราคาน้ำมันเคยขึ้นสูงสู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ก่อนจะลดลงมาสู่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลจนถึงปัจจุบัน เมื่อตลาดหลักได้รับผลกระทบทำให้คำสั่งซื้อจากภูมิภาคตะวันออกกลางลดลงอย่างชัดเจน นำไปสู่ความจำเป็นปรับแผนการผลิตของโตโยต้าด้วยการลดจำนวนพนักงาน โดยบริษัทได้มีการเสนอในโครงการ"จากด้วยใจ"ให้แก่พนักงาน โดยคาดว่าจะมีคนงานสมัครเข้าโครงการนี้ประมาณ 900 คน แต่ปรากฎว่าในความเป็นจริงมีพนักงานสมัครเข้าโครงการนี้เกือบ 1 พันคน แต่เราอนุญาตให้ลาออกแค่ 900 คนเศษและพร้อมจะดึงคนงานเหล่านี้กลับมาร่วมงานทันทีที่สถานการณ์การส่งออกดีขึ้น

"โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของพนักงาน และยืนยันว่าเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติบริษัทจะรับพนักงานกลุ่มนี้กลับเข้ามาทำงานเป็นกลุ่มแรก และยังคงเงินเดือน สวัสดิการเท่ากับก่อนจะลาออกไป และจะยังนับอายุงานให้ต่อเนื่องอีกด้วย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ