(เพิ่มเติม1) สศค.ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็น -1.9% แต่ยังเชื่อ GDP ปีนี้โต 3.3% ใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2016 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปีนี้ลงเหลือ ติดลบ -1.9% จากเดิมคาดติดลบ -0.7% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางและไม่แน่นอนสูง

แต่อย่างไรก็ตาม สศค.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 3.3% เนื่องจากการใช้จ่าย การลงทุนของภาครัฐยังขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการระบบขนส่งทางถนน ขณะที่โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมก็ยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สศค.เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2/59 ขยายตัวได้ในระดับ 3.3% มีสัญญาณดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากมาตรการภาครัฐและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เร่งขึ้น แม้ว่าอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าจะหดตัว -4.1% เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกยังเป็นไปอย่างเปราะบาง และมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ในเดือน มิ.ย.การส่งออกขยายตัว -0.1%

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะสามารถขยายตัวได้ 3.3% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0 - 3.6%) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง ตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล ขณะที่การเบิกจ่ายภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งในระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559 ที่มีความพร้อม ยังคงมีความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่เติบโตดี ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย ทั้งธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้และการจ้างงานในภาคบริการที่ขยายตัวดี

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ มีความก้าวหน้าและชัดเจนมากขึ้น

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.3 - 0.9%) ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวในอัตราชะลอลง และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 40.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 10.3% ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ 10.0 - 10.6% ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเกินดุลการค้าและดุลบริการ

"ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่เหลือของปี" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

พร้อมกันนี้ สศค.ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย โดยไตรมาส 3-4 ปีนี้จะขยายตัวเฉลี่ย 3% ทำให้ทั้งปีขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 3.3% เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนในปีงบประมาณ 2560 ที่มีความชัดเจน และการเร่งลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงระบบการใช้จ่ายงบประมาณให้ดีขึ้นและเป็นมาตรการมากขึ้น ขณะที่โครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐ อาทิ ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ก็เริ่มเดินหน้าได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สศค. ได้ปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย 15 ประเทศในปีนี้ ลงเหลือ 3.3% จากเดิมที่ 3.49% เนื่องจากในไตรมาสแรกของปีเศรษฐกิจหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวันและสิงคโปร์ ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย รวมถึงความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และการลงประชามติก็เป็นสิ่งรัฐบาลวางแผนเดินหน้าปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ