(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ มิ.ย.ชะลอลงเล็กน้อย การบริโภคเอกชนลดลง-ส่งออกซบเซาต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2016 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน มิ.ย.59 และไตรมาส 2/59 โดยระบุว่า เศรษฐกิจในเดือน มิ.ย.ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายภาครัฐยังทำได้ดีต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวดี แม้ในเดือนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังปรับฤดูกาลแล้วจะลดลงบ้าง แต่เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว

ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยตามยอดขายยานยนต์ที่เร่งไปมากในเดือนก่อนที่มีการส่งเสริมการขายและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ สะท้อนกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ขณะที่การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำยังซบเซาต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้าและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย อัตราการว่างงานทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิตามการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย อย่างไรก็ดี มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทยทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2/59 เติบโตได้ดีกว่าไตรมาส 1/59

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนนี้กลับมาขยายตัว 1.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาในตลาดโลกหลังผลประชามติระบุว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 1.6% โดยเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนในหมวดยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง

ทั้งนี้ การส่งออกในหลายหมวดสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้าปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และราคาส่งออกในหมวดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมที่ยังหดตัว อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้านอกจากนี้ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วนกลับมาขยายตัวได้เนื่องจากประเทศคู่ค้าเร่งน เข้าเพื่อเตรียมผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวในเดือนกันยายน สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของกลุ่มประเทศในเอเชียเหนือ มูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำและการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงในเดือนนี้ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเช่นกัน

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 9.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมทองคำ จะเป็นการหดตัวในอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 9.7% ตามการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยการนำเข้าหมวดสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบยังคงหดตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน และปริมาณการนำเข้าเชื้อเพลิงที่หดตัวเนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังคงหดตัว สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ทรงตัวในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังทำได้ดีและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยรายจ่ายประจำขยายตัวสูงตามการใช้จ่ายในโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐที่เริ่มเบิกจ่ายในเดือนนี้ และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่แผ่วลงไปในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนด้านคมนาคมและชลประทาน

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องแม้จะชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อน ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตรที่รายได้เริ่มกลับมาขยายตัวได้หลังจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลายลงและความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำยังคงหดตัว ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกตามราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของภัยแล้ง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องและมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ