ภาวะตลาดเงินบาท: เย็นนี้ 34.85/86 เงินทุนยังไหลเข้าต่อเนื่อง คาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.80-35.00

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2016 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า เงินบาทล่าสุดอยู่ที่ระดับ 34.85/86 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงตอนเช้าที่ อยู่ที่ระดับ 34.85/87 บาท/ดอลลาร์

"ภาพรวมเงินบาทวันนี้ลงมาแล้วก็อยู่นิ่งๆ แต่ดอลลาร์เยนวิ่งมาก หลังจากมติ BOJ ออกมาไม่มีอะไรออกมามากนักทำให้ ตลาดค่อนข้างผิดหวัง เยนค่อนข้างแข็งค่าที่ 102.90 จากนี้ไปก็ให้รอดูทางสหรัฐอเมริกา ตลาดนิวยอร์คว่าจะ React อย่างไร บ้าง แต่ดอลลาร์บาทเองก็เรียกว่ายัง Pressure อยู่ในส่วนของเงินทุนไหลเข้า แต่เข้าใจว่าทางธปท.ก็ยังดูแลอยู่ เพราะถ้าหลุด 34.85 ไปอาจจะลงเยอะ" นักบริหารเงิน กล่าว

สำหรับทิศทางเงินบาทมองว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.80-35.00 บาท/ดอลลาร์

"ถ้าแถว 34.80 กว่าๆ ยังรับอยู่ก็อาจจะเด้งขึ้นมาในระยะสั้น ด้านบนก็คงอยู่ประมาณ 35.00"นักบริหารเงินกล่าว

ล่าสุด THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 34.8600 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 103.80 เยน/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 104.21 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1090 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.1077 ดอลลาร์/ยูโร
  • รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีเงินทุนไหลเข้าค่อนข้างมาก ปัจจัยนี้ไม่ได้ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่ง
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยืนยันมาตลอดมาว่ามีมาตรการในการดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน มิ.ย.59 และไตรมาส 2/59 โดยระบุ
ว่า เศรษฐกิจในเดือน มิ.ย.ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายภาครัฐยังทำได้ดีต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวยังขยาย
ตัวดี แม้ในเดือนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังปรับฤดูกาลแล้วจะลดลงบ้าง แต่เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว
  • ธปท.ยังคงประมาณการขยายตัวส่งออกในปีนี้ไว้ที่ติดลบ -2.5% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง
โดยไตรมาส 2/59 การส่งออกติดลบ -3.1% แต่มองว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าบางกลุ่มยังขยายตัวได้ ขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปียังมี
ความไม่แน่นอนที่จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ และจะเป็นปัจจัยที่มาจากความไม่แน่นอนของ
เศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก รวมทั้งการเมืองในประเทศก็เป็นปัจจัยหนึ่งต่อการการฟื้นตัวเศรษฐกิจด้วย
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 ส.ค.59 จะมีมติคงอัตรา
ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไว้ตามเดิม หลังจากทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับ
แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อเก็บกระสุนในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space ไว้ใช้ในยามที่จำ
เป็น และเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ตลอดช่วงครึ่งหลังของปี อาทิ ความเสี่ยงจาก
BREXIT ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของธนาคารอิตาลี ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนการชะงักงัน
รอบใหม่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
  • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท
Moody’s Investors Service (Moody’s) ว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 Moody’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของ
พันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ระดับ Baa1 โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable
Outlook) ในขณะเดียวกัน ได้ยืนยันเพดานความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ A2 และสกุลเงิน
บาทที่ระดับ A1 พร้อมทั้งยืนยันเพดานเงินฝากธนาคารสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ Baa1 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1
  • บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 ธนาคารพาณิชย์ไทยมี
อัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลง และฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(NPL) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (แต่ไม่น่าจะสูงขึ้นมากนัก) สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 59 เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานโดยรวม
ที่ยังคงอ่อนแอ
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย และซื้อกองทุน ETFs เพิ่มขึ้น ในการประชุมวันนี้ โดย BOJ ได้คง
อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับติดลบ 0.100% พร้อมทั้งเพิ่มวงเงินในโครงการปล่อยกู้ 2 เท่า เป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการ
ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และควบคุมผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่อังกฤษได้ลงมติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

พร้อมกันนี้ BOJ ได้ขยายวงเงินในการซื้อกองทุน ETFS จากสถาบันการเงินต่างๆเป็น 6 ล้านล้านเยน รวมทั้งปรับ ลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2559 ลงเหลือ 0.1% จาก 0.5% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยการปรับ ลดคาดการณ์เงินเฟ้อครั้งนี้มีขึ้นในการประชุมนโยบายการเงินวันนี้ ซึ่ง BOJ มีมติใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม

นอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2559 ลงสู่ระดับ 1.0% จาก 1.2% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลง อัน เนื่องมาจากผลกระทบของการที่อังกฤษลงมติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ส่วนในปีงบประมาณ 2560 นั้น BOJ ได้คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเอาไว้ในระดับเดิมที่ 1.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ