"อนุสรณ์" ชี้ผลประชามติไม่กระทบต่อระบบศก.ในระยะสั้น มีผลในระยะกลาง-ยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 31, 2016 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ผลของการทำประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.จะไม่มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นเฉพาะหน้าทั้งบวกและลบ โดยยืนยันคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.2-3.5% เช่นเดิม โดยปรับเพิ่มการเติบโตของการลงทุนภาครัฐและการกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ส่วนภาคส่งออกน่าจะติดลบตามที่คาดการณ์ไว้เดิม -1 ถึง -2% ส่วนการเสนอมาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชนล่าสุดของรัฐบาลจะช่วยบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อยระดับหนึ่งโดยปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพรับจ้าง อาชีพอิสระ

สำหรับประชาชนที่อยู่ในระบบการจ้างงานที่เป็นทางการนั้นควรมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มาตรการยกระดับความสามารถให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ทางการตลาดและการผลิต, โครงการฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย,การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มาตรการและโครงการเหล่านี้ต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้น คาดจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งหมด 33-34 ล้านคน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวมากว่า1.7ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวในไตรมาสสองจะอยู่ที่ระดับ 3.2-3.2% โดยครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยน่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้เงินบาทอาจแข็งค่ามากขึ้นในไตรมาสสามจากการไหลเข้ามาของเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรในตลาดการเงิน ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและขอให้ระมัดระวังภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงจะส่งผลกระทบต่อประเทศและเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว แต่ขึ้นอยู่กับว่าผลของประชามติออกมาอย่างไร ซึ่งสามารถเป็นไปได้ 4 กรณี คือ กรณีแรกรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คำถามพ่วงผ่าน ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งได้ ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในปีหน้า

กรณีที่สองรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและคำถามพ่วงไม่ผ่าน สามารถจัดการการเลือกตั้งตามโรดแมฟ และต้องเปิดกว้างในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับรวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จะเป็นผลบวกต่อการลงทุนภาคเอกชน

กรณีที่สามรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามพ่วงไม่ผ่าน จะต้องเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่หากกระบวนการร่างสามารถระดมการมีส่วนร่วมมากขึ้น ก็จะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิม เป็นประชาธิปไตยมากกว่า ปราบโกงได้ดีกว่า จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนมากกว่าในระยะยาว การลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในกรณีนี้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ดีกว่าเดิมหากรัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นสร้างฉันทามติร่วมกันในหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญคืออะไร สิทธิเสรีภาพดีกว่าเดิม ดุลยภาพแห่งอำนาจดีกว่าเดิม สวัสดิการโดยรัฐดีกว่าเดิมและที่สำคัญที่สุดปราบโกงได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

และกรณีที่สี่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คำถามพ่วงผ่านประชามติ มีความเป็นไปได้น้อย แสดงว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดมั่นหลักการนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งอีกแล้ว ที่วีรชนประชาธิปไตยได้เสียสละชีวิตเมื่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 การเสียสละของวีรชนประชาธิปไตยจะกลายเป็นสิ่งที่สูญเปล่าเพราะประชาธิปไตยจะถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 24 ปี

หลายประเทศมีการออกเสียงประชามติเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ประเทศไทยเคยมีการนำเอาการออกเสียงประชามติมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517, ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 และในฉบับ พ.ศ.2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติในเรื่องที่อาจกระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่เคยมีการดำเนินการออกเสียงประชามติตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้จนกระทั่ง พ.ศ.2550 ที่มีการออกเสียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และครั้งล่าสุดจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ การลงประชามติเป็นประชาธิปไตยทางตรงฉะนั้นต้องไม่ทำเป็นเพียงพิธีกรรม แต่ให้ใช้โอกาสนี้ในการฟังเสียงประชาชนเจ้าของประเทศว่าเขาต้องการอะไร

หากเสียงประชามติออกมาเป็นเอกฉันท์ฝ่ายรับและฝ่ายไม่รับมีคะแนนแตกต่างกันอย่างชัดเจนจะเป็นผลดีต่อประเทศและเศรษฐกิจมากกว่าเสียงออกมาก้ำกึ่ง ซึ่งสะท้อนว่าสังคมยังมีความขัดแย้งสูงและยังไม่มีฉันทามติในการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างชัดเจน

หากเสียงประชามติมีความเป็นเอกฉันท์ การจัดการการลงประชามติโปร่งใสและเรียบร้อย ผลออกมาแล้วทุกคนยอมรับเสียงข้างมาก ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้และไม่สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่รออยู่ข้างหน้า กรณีรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นเอกฉันท์ก็เดินหน้าไปตามโรดแมฟ กรณีไม่รับเป็นเอกฉันท์ไม่ควรนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาเป็นแนวทางในการร่างใหม่ ควรใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาเป็นแนวทาง แล้วจัดเตรียมร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยกว่าเดิมทั้งเนื้อหารัฐธรรมนูญและกระบวนการร่าง

หากผลประชามติมีเสียงก้ำกึ่งกันมากไม่ว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอเพื่อความมีสันติธรรมและกลับคืนประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยดังนี้ กรณีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและผลประชามติออกมาเสียงก้ำกึ่งกัน ต้องไปศึกษาดุว่ามีประเด็นเนื้อหาใดบ้างที่ขัดแย้งกันสูง เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. ดุลยภาพทางอำนาจ ระบบและกลไกในการจัดการปัญหาการทุจริต ประเด็นเรื่องระบบสวัสดิการของรัฐว่าควรเป็นสิทธิของประชาชน หรือเป็นเพียงสิ่งที่รัฐบาลจัดให้

ส่วนภารกิจการปฏิรูปประเทศเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลายาวนานจึงบรรลุเป้าหมาย กระบวนการปฎิรูปจำเป็นต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และควรเป็นกระบวนการที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตย นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย เนื้อหาของการปฏิรูปควรอยู่ฐานของการศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้ง มิใช่ทำไปตามกระแสหรือคิดกันเองในกลุ่มผู้นำกลุ่มเล็กๆ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติต้องมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย หากไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยอาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและการปฏิรูปประเทศได้ ในทุกสังคมที่เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านสำคัญจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นอาจเผชิญวิกฤตการณ์ความรุนแรงในสังคมได้

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรังสิตได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 654 คน และพรรคการเมือง 8 พรรค เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยสิ่งที่ประชาชนความคาดหวังต่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้แก่ นักการเมืองที่ดี มีคุณธรรม ไม่ทุจริตคอรัปชั่น คิดเป็นร้อยละ 33.3, การเมืองไทยดีและเศรษฐกิจเจริญขึ้น คิดเป็นร้อยละ 28.5, ได้รัฐบาลที่ดี-มีหลักธรรมาภิบาล คิดเป็นร้อยละ 18.0 และประชาชนปรองดอง-มีสมานฉันท์ คิดเป็นร้อยละ 17.5

ขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่คาดหวังให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดจริงจัง รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาการศึกษา และคืนอำนาจให้ประชาชนในการเลือกตั้ง รวมถึง ต้องการให้รัฐบาลเข้าใจปัญหาพื้นฐานของสังคมอย่างลึกซึ้ง เพื่อจะได้กำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาให้สังคมอย่างถูกต้อง โดยทำคู่ขนานไปกับการพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้ มีการศึกษาและมีคุณธรรม

โดยปัญหาของประเทศไทยที่ประชาชนต้องการให้ปฏิรูปโดยด่วนคือ 1) การทุจริตคอรัปชั่น คิดเป็นร้อยละ 44.3 2) ระบบเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน คิดเป็นร้อยละ 33.2 3) ระบบการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 9.1 4) ระบบราชการ คิดเป็นร้อยละ 6.7 และ 5) การเมืองและวิธีการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 4.8 ขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ปัญหา การป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง พัฒนาการศึกษา ให้มีความรู้ประชาธิปไตยที่แท้จริง และสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในประเทศ การปฏิรูปต้องกระทำควบคู่ไปกับ การสนองตอบต่อปัญหาของประชาชนและให้การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่แท้จริง ก็สามารถทำให้ขับเคลื่อนปัญหาทุกอย่างไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ