"สมคิด"เตรียมเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกทม.-ระยอง,คมนาคมดันเข้าบอร์ด PPP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2016 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมเพื่อจัดทำแผนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ได้แก่ กทม.-นครราชสีมา, กทม.-ระยอง, กทม.-หัวหิน และ กทม.-เชียงใหม่ว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง จะเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาพื้นที่เส้นทางรถไฟในเชิงพาณิชย์ เพราะมีหลายสถานีที่มีศักยภาพ โดยให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาผลตอบแทนทางการเงิน และจำนวนสถานีที่จะพัฒนาเพื่อบรรจุในเงื่อนไขการประมูล คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบ

"ประกอบกับโครงการ East Economic Corridor ที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งเรารู้ว่าต่างประเทศเขากำลังมองอะไร เรารู้เลยว่าเขากำลังมองไทยเรื่องรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง สนามบินและท่าเรือ ถ้าเกิดได้เร็ว จะเป็นสิ่งที่ผลักดันเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกทม.- ระยองจะเร่งเข้าคณะกรรมการ PPP"นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า การจัดทำแผนใช้ประโยชน์จากพื้นที่จะเป็นการพัฒนาเส้นทางให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำแต่รถไฟ แต่จะมีการใช้พื้นที่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลได้และพื้นที่เป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว โดยรัฐบาลสามารถให้เอกชนเข้ามาช่วยได้ หรือรัฐบาลพัฒนาด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีประโชน์ต่อประเทศโดยส่วนรวม

ส่วนความคืบหน้าของงานที่เคยให้การบ้านกับกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟทั้ง 4 เส้นทาง โดยให้แนวความคิดด้วยการชี้ให้กระทรวงคมนาคมเห็นว่าในแต่ละเส้นทางมีกี่จุดหรือกี่สถานีที่สามารถพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ได้ และแต่ละจุดมีแนวคิดทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ และกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนให้เอกชนรับทราบ เพื่อกำหนดเข้าไปในในเงื่อนไขการประกวดราคาหรือทีโออาร์และนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง

"วันนี้มาตาม งานก็คืบหน้าค่อนข้างเยอะ เช่น กทม.-โคราช ตรงไหนพัฒนาได้บ้างทำอะไร สิ่งเหล่านี้ผมให้เวลา 2 อาทิตย์เก็บรายละเอียด เพื่อให้นำเสนอนายกฯรับทราบ"นายสมคิด กล่าว

สำหรับการพัฒนาพื้นที่คงไม่ได้ทำตลอดเส้นทาง แต่จะทำบางจุดของเส้นทางรถไฟ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของรัฐบาล อาทิ กรมธนารักษ์, ของทหาร ซึ่งจะไม่ลำบากในการเข้าใช้พื้นที่ หรือบางส่วนอาจจะเป็นพื้นที่ของเอกชน แต่ยืนยันว่าจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบจนเดือดร้อน

ขณะที่กรมทางหลวง ได้นำเสนอเส้นทางถนนนจากกรุงเทพ-ระยองจะมีจุดแวะพัก (Rest Area) กี่แห่ง จึงให้โจทย์ว่าจะต้องเป็น Rest Area แบบใหม่ ซึ่งเส้นทางนี้ไม่ใช่เป็นเพียงเส้นทางเศรษฐกิจแต่เป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วย น่าจะทำจุดแวะพักที่คนอยากเข้ามาใช้บริการ เหมือนในญี่ปุ่นที่ลงมาแล้วต้องมีร้านค้าสินค้าที่โดดเด่นในพื้นที่มาขาย มีร้านอาหารที่เด่น ไม่ใช่เจอฟาสต์ฟฟู้ด

"ปั๊มน้ำมันก็ทำให้ดีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เป็นจุดแวะพักที่คนอยากเข้ามา ขณะที่กรมผังเมืองก็เข้ามาร่วมจัดวางพื้นที่ด้วย"นายสมคิด กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม คาดว่าในเดือน ส.ค. - ก.ย.นี้กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกทม.- ระยอง และกทม.-หัวหิน ต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ขณะที่โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เส้นทางกทม.-ระยอง คาดว่าจะเปิดประมูลได้ปีนี้พร้อมกับโครงการก่อสร้างและบริหารงานเดินรถของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกทม.- ระยองได้ในปีนี้ ส่วนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน จะพยายามเปิดประมูลให้ได้ในปีนี้เช่นกัน

"ขณะนี้รอผล EIA ทั้งสองเส้นนี้ คาดว่าเดือน ส.ค.น่าจะเรียบร้อย สามารถนำเสนอครม. และเปิดประมูลได้ ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางจะเน้นรอบสถานีก่อน ในปีนี้จะเริ่มเส้นทางกทม.- ระยองได้ก่อนเพราะสถานีมีศักยภาพ สามารถพัฒนาทั้งธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้าฯ"

นายอาคม กล่าวว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกทม.- ระยอง มีสถานีที่มีศักยภาพมีอยู่ 4-5 สถานี อาทิ ลาดกระบัง, ศรีราชา, ระยอง เป็นต้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชการชองราชพัสดุกรมธนารักษ์อีกส่วนเป็นพื้นที่ของเอกชนอาจจะเวนคืนเพิ่มเติม

ส่วนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมามีแนวโน้มจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ในอันดับถัดไป ได้กำหนดสถานีที่มีศักยภาพ ได้แก่ สระบุรี, ปากช่อง, นครราชสีมา

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่าในวันที่ 5 ส.ค.นี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จะพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.- ระยอง ส่วนการพัฒนาทีดินเชิงพาณิชย์ บางส่วนจะใช้วิธีการจัดรูปที่ดินตามที่กรมโยธานำเสนอ โดยจะให้เจ้าของยังคงได้สิทธิการใช้พื้นที่ แต่ให้นำที่ดินเอกชนที่รวมกับของรัฐมาปรับรูปแบบการใช้ที่ดินใหม่ ซึ่งน่าจะได้รับความร่วมมือมากกว่าการใช้วิธีเวนคืน

อนึ่ง โครงการถไฟความเร็วสูง กทม.- ระยอง มีวงเงิน 1.52 แสนล้านบาท ระยะทาง 193.5 กม. และโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-หัวหิน วงเงิน 9.46 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 211 กม.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ