ดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือน ก.ค.ก่อนลงประชามติ ปรับลงเล็กน้อยกังวลภาวะค่าครองชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2016 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือน ก.ค.59 (สำรวจเสร็จสิ้นก่อนมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.59) ปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 42.3 จากระดับ 42.5 ในเดือนมิ.ย.59 สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยังคงมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบัน

ประเด็นที่ครัวเรือนกังวลกลับมีความแตกต่างจากเดือนก่อนหน้า กล่าวคือ มีความกังวลในด้านสถานการณ์ราคาสินค้าน้อยลง แต่กังวลในด้านภาวะการมีงานทำและภาระหนี้สินมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก โดยในเดือน ก.ค.59 ครัวเรือนมีความกังวลน้อยลงต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนก.ค.59

ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนกลับมีมุมมองที่กังวลเพิ่มมากขึ้นต่อสถานการณ์ทางด้านภาวะการมีงานทำและภาระหนี้สิน สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อรายได้และภาระหนี้สินต่างๆ ของเดือนก.ค.59 ปรับตัวลดลงมาที่ 48.3 และ 37.9 จากระดับ 49.4 และ 38.2 ตามลำดับ ซึ่งในประเด็นของภาวะการมีงานทำนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของภาคธุรกิจในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า องค์กร/หน่วยงาน/ธุรกิจที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของเริ่มมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการจ้างงาน โดยส่วนใหญ่ ราวร้อยละ 36 ยังคงเป็นในรูปแบบการชะลอรับพนักงานใหม่และการลดเวลาการทำงานนอกเวลา (OT) ส่วนปัญหาของการเลิกจ้างยังคงมีไม่มากนัก ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อไปยังอำนาจการซื้อภาคครัวเรือนและรายได้ของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพิงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ครัวเรือนในกลุ่มฐานราก (ที่มีภาระหนี้สินอยู่แล้ว) เริ่มกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค สะท้อนภาพกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็งของครัวเรือนในกลุ่มฐานราก

ขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) กลับทรงตัวจากเดือนก่อนที่ระดับ 43.3 สะท้อนความไม่แน่ใจของครัวเรือนต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า (สำรวจเสร็จสิ้นก่อนการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59) โดยในภาพรวม ภาคครัวเรือนยังคงมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพเหมือนเดิม หากลดระดับการให้น้ำหนักต่อความกังวลในด้านสถานการณ์ราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ลง แต่ไปให้น้ำหนักต่อความกังวลในด้านภาระหนี้สินมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้สินในหมวดที่อยู่อาศัยที่ได้รับแรงส่งจากมาตรการของภาครัฐ อาทิ โครงการบ้านประชารัฐ นอกจากนี้ มาตรการประชารัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง เช่น มาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน ก็อาจจะเพิ่มความกังวลของครัวเรือนต่อภาระหนี้สินให้มากขึ้นในระยะถัดไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความกังวลต่อภาวะการมีงานทำและภาระหนี้สินจะเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือนก.ค. 59 นี้ (ผลสำรวจก่อนมีการลงประชามติ) หากแต่ปัจจัยจากผลประชามติเสียงส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะส่งผลบวกต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับการผ่อนคลายความกังวลของครัวเรือนในด้านสถานการณ์ราคาสินค้า ก็น่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพปรับตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ