(เพิ่มเติม) ธอส.ศึกษาระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัยของเยอรมนี เล็งนำมาปรับใช้ส่งเสริมคนไทยมีบ้านของตนเอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 10, 2016 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญด้านการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) จึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ "Bausparkassen : A Prospective Scheme Promoting Home Ownership in Thailand" หรือ "ระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัยของเยอรมนี : แนวทางการส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในประเทศไทย" ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธอส. กับสมาคม Bausparkassen แห่งประเทศเยอรมนี (The German Association of Private Bausparkassen)

งานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อศึกษาแนวคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัย (Bauspar System) ซึ่งเป็นระบบรากฐานทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องนานกว่าร้อยปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศเยอรมันนี โดยมีการดำเนินการผ่านสถาบันการเงินที่เรียกว่า "Bausparkassen" ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 22 แห่งในประเทศเยอรมนี ดำเนินการโดยภาครัฐ 10 แห่ง และภาคเอกชน 12 แห่ง มีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสูงประมาณ ร้อยละ 20

ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวยังได้ขยายสู่หลายประเทศในภาคพื้นยุโรป อาทิ ออสเตรีย โครเอเชีย สาธารณรัฐเชค ฮังการี คาซัคสถาน ลักเซมเบิร์ก โรมาเนีย และสโลวาเกีย นอกจากนี้ยังเริ่มนำแนวทางนี้เข้ามาสู่ประเทศจีนอีกด้วย

"ดังนั้นความรู้ที่ได้จากงานสัมมนาในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมทางสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ๆ สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยของประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น" รมช.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า ตามแนวคิดดังกล่าวของสถาบัน Bausparkassen ประเทศเยอรมนี ที่มีการส่งเสริมให้มีการออมเพื่อที่อยู่ศัยในอนาคต ด้วยหลักการให้มีการรวมกลุ่มกันของประชาชน เพื่อออมเงินให้ได้ตามสัดส่วนที่ต้องการ และจะได้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น แนวคิดดังกล่าวอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะต้องการให้คนไทยมีวินัยในการออมเพิ่มขึ้น และลดส่วนหนี้ความเสี่ยงการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงจากปัจจุบันที่คนไทยนิยมการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่มีการออมเริ่มต้น จึงทำให้ NPL สูง และมีผลต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี ต้องศึกษาให้เหมาะสมว่าในประเทศไทยสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงถึง 80% หากต้องมีการออมเพื่อที่อยู่อาศัยในอนาคตด้วย อาจทำได้ยาก ฉะนั้นต้องให้ ธอส.ไปหาแนวทางในการดำเนินการก่อน

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ธอส.พร้อมที่จะเป็นกลไกหลักของภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านที่อยู่อาศัย โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถมีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งที่อยู่อาศัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ จากแนวคิดระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัย (Bauspar System) ของประเทศเยอรมนี นับเป็นนวัตกรรมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแบบใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ธอส.ให้ความสำคัญเรื่องการออมเพื่อการมีที่อยู่อาศัยในอนาคต มุ่งเน้นส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับประชาชนตามนโยบายรัฐบาลจึงได้จัดทำ "โครงการ ธอส.โรงเรียนการเงิน" ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และวินัยทางการเงินให้กับคนไทยที่ต้องการมีบ้าน รวมถึงแนะนำการเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อาทิ นักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ง่ายในอนาคต หากได้ประกอบอาชีพและมีแหล่งที่มาของรายได้อย่างต่อเนื่องชัดเจน

ซึ่งธนาคารจะสามารถนำแนวทางของ Bausparkassen มาพัฒนาและใช้ประยุกต์ต่อยอดรูปแบบการเงินที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ หรือ กลุ่มที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน และสามารถส่งเสริมให้กลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการ เพื่อปลูกฝังและฝึกฝนวินัยการเงินผ่านการออม โดยมีเป้าหมายที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอนาคตได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นการสร้างโอกาสแก่คนรุ่นใหม่ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอนาคตได้มากด้วย เป็นการสร้างฐานอุปสงค์ในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยพันธกิจที่จะทำให้คนไทยมีบ้าน ธนาคารยังคงเดินหน้านำนวัตกรรมด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่มาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จากแนวคิดดังกล่าว ธอส.จึงได้ร่วมมือกับสมาคม Bausparkassen จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานของ Bausparkassen เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไทยในการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้อย่างมั่นคง โดยมีจุดเด่นคือการสร้างให้คนไทยมีการวางแผนและการสร้างวินัยการออม

สำหรับประชาชนที่ต้องการกู้เงินจะต้องเริ่มต้นจากการทำสัญญา "การออมเพื่อการกู้ในอนาคต" โดยจำนวนเงินออมจะสัมพันธ์กับจำนวนเงินที่ต้องการขอกู้ในอนาคต ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน Bausparkassen เพื่อซื้อบ้านเป็นของตนเอง

จุดเด่นอีกประการหนึ่ง คือ ระบบ Bausparkassen จะเป็นระบบการเงินแบบปิด (Closed System) ที่นำเงินที่ได้จากเงินออมของผู้ต้องการซื้อบ้านมาบริหารจัดการในปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในรูปแบบของระบบเงินกองทุน ซึ่งผู้ต้องการซื้อบ้านจะต้องทำสัญญากับ Bausparkassen ใน 3 ส่วน คือ 1.ส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการฝาก (Savings Phase) เช่น จำนวนเงินฝาก อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาฝาก 2.ส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดสรรเงินให้กับสมาชิก (Allocation) เช่น จำนวนเงินกู้ที่จะได้รับ ราคาของที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อ 3.ส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการกู้เงิน (Loan Phase) เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวนเงินผ่อนชำระ ระยะเวลาผ่อน เป็นต้น ซึ่งการทำสัญญาทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องทำตั้งแต่เริ่มต้นและระบุอัตราดอกเบี้ยที่สัมพันธ์กัน

ดังนั้น แนวทางเช่นนี้อาจจะส่งผลให้การบริหารเงินกองทุนของ Bausparkassen มีต้นทุนต่ำกว่าระบบการเงินแบบอื่น และอาจไม่ต้องอ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินได้ ทำให้ Bausparkassen สามารถปล่อยสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด หากบริหารต้นทุนเงินฝากได้ดี รวมถึงผู้ที่ต้องการกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถรับรู้ภาระและความสามารถในการผ่อนชำระล่วงหน้าได้อีกด้วย

"สำหรับประเทศไทย ธอส.ได้ตระหนักถึงแนวคิดและหลักการของ Bausparkassen ว่าจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการออมและภาคสินเชื่อในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะทำให้โครงการสร้างพื้นฐานทางสังคม เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย" นายฉัตรชัยกล่าว

พร้อมระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำระบบการออมเงินดังกล่าวมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยในเบื้องต้นจะนำร่องในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่หรือวัยเริ่มต้นทำงานที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ออมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย แต่จะเป็นการออมเงินแบบกลุ่มลักษณะใกล้เคียงการเล่นแชร์ ซึ่งคาดว่าจะปล่อยกู้ในช่วงแรกวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจะเจรจากับกองทุนประกันสังคมเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยของโครงการดังกล่าวกับผู้กู้ต่ำกว่า 2% ในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ หลักในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ธนาคารจะเป็นตัวกลางในการรวมกลุ่มของประชาชนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันเพื่อให้ออมเงินร่วมกัน โดยจะกำหนดวงเงินการออมตามที่ธนาคารกำหนด หรือ 40% ของเงินสินเชื่อที่ต้องการ จากนั้นธนาคารจะมีการกำหนดเงื่อนไขวงเงินสินเชื่อที่ได้รับ และลำดับก่อนหลังผู้ได้รับสินเชื่อในกลุ่ม ซึ่งผู้ที่รวมกลุ่มกันไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน โดยธนาคารจะเป็นผู้กำหนดกลุ่มให้ เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์สินเชื่อ ทั้งนี้หากในกลุ่มมีรายใดได้รับสินเชื่อแล้ว ให้ผันเงินที่เคยออมดังกล่าวไปเป็นเงินจ่ายคืนสินเชื่อต่อไป

นายฉัตรชัย ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะกลุ่มดังกล่าวจะเป็นผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยในอนาคตจริง ไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร และไม่ได้มีจำนวนมากจนกระทบต่อการเติบโต แต่จะช่วยลด NPL ที่จะเกิดขึ้นได้มากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ