กฟผ.เตรียมพร้อมรองรับแหล่งก๊าซฯ JDA-A18 หยุดซ่อม 20-31 ส.ค.ยันไม่กระทบผลิตไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 19, 2016 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA - A18) ในช่วงวันที่ 20-31 สิงหาคม 2559 เพื่อบำรุงรักษาประจำปีนั้น จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบ 421 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่ง กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการรองรับในทุกด้าน ทั้งด้านผลิตไฟฟ้า ระบบส่งและเชื้อเพลิง พร้อมขอความร่วมมือประชาชน ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติดังกล่าว เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง

การหยุดจ่ายก๊าซฯจากแหล่ง JDA - A18 จะเริ่มวันที่ 20 สิงหาคม 2559 ซึ่ง กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านเทคนิค จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ที่สำคัญ คือ โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 ของ กฟผ. พร้อมเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลแทน ซึ่งได้ดำเนินการทดสอบเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังได้ตรวจสอบโรงไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมดให้พร้อมใช้งาน งดการหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ในช่วงหยุดจ่ายก๊าซฯ และประสานการไฟฟ้ามาเลเซียขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉินด้วย

สำหรับด้านระบบส่งได้ให้ความสำคัญกับระบบส่งเชื่อมโยงภาคกลาง-ภาคใต้ และระบบส่งในเขตภาคใต้เอง ส่วนด้านเชื้อเพลิง มีการสำรองน้ำมันที่โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ธานี เต็มความสามารถในการจัดเก็บ เพื่อให้มีปริมาณเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการใช้งาน อย่างไรก็ตามกฟผ.ไม่ประมาท ได้เตรียมทีมงานติดตามสถานการณ์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในช่วง 12 วันนับจากวันนี้จนกว่าจะกลับมาจ่ายก๊าซได้ตามปกติ

“อย่างไรก็ตาม กฟผ. ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงาน ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ช่วงเวลา 18.00 – 21.30 น. ระหว่างการหยุดจ่ายก๊าซวันที่ 20 – 31 สิงหาคม 2559 เพื่อความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบผลิตไฟฟ้าของภาคใต้และภาพรวมของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้สามารถติดตามสถานการณ์การผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าได้ที่ https://www.sothailand.com/jdashutdown/"นายสุธน กล่าว

ทั้งนี้ การหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 ต่อปี จึงมีความจำเป็นในการจัดหาแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มเติม เพื่อให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีเพียงพอและมั่นคงในระยะยาว โดยต้องมีการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้สมดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ