ครม.เห็นชอบตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ทุนประเดิม 10,000 ลบ./ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2016 09:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ร่าง พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. ….) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยให้เพิ่มเติมหลักการ เกี่ยวกับการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกรณีได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลรัษฎากรตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งจัดทำแผนเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

2. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจามีหน้าที่ดำเนินการสรรหาและเจรจากับผู้ประกอบกิจการเพื่อให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกรอบแนวทางในการสรรหาและเจรจาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

3. กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับสิทธิและประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ซึ่งการอนุมัติให้สิทธิและประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย และอาจกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมแต่ละรายได้รับสิทธิและประโยชน์แตกต่างกันได้ โดยให้พิจารณาจากความจำเป็น ความคุ้มค่า และประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

4. กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามระยะเวลาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น และกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้

5. กำหนดให้เงินปันผลจากกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ 4 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น

6. กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายอาจพิจารณาให้เงินสนับสนุนจากกองทุนแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายก็ได้ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาให้เงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

7. กำหนดให้มีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่กองทุน เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน และดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน โดยเงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวมีทุนประเดิมที่ 10,000 ล้านบาท

นายณัฐพร กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยให้เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กรณีได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลรัษฎากรตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ดังนี้

1. กำหนดให้กรรมการหรือที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้วสามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปได้จนกว่ากรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

2. กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจัดให้มีการประเมินผลการส่งเสริมการลงทุนอย่างน้อยทุกสี่ปี โดยให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ และเปิดเผยรายงานการประเมินผลให้ประชาชนทราบ โดยการประเมินผลการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนความคุ้มค่าของการส่งเสริมการลงทุน

3. กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสามารถมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ควบคุม และประเมินผลกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและจัดทำรายงานผลการดำเนินการแทนสำนักงานได้

4. ยกเลิกการส่งเสริมกิจการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศยกเลิกเงื่อนไขที่ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องปฏิบัติในเรื่องปริมาณวัตถุดิบภายในประเทศที่จะต้องใช้และการส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผลิตหรือประกอบ และยกเลิกสิทธิและประโยชน์ของผู้ได้รับการส่งเสริมกรณีการอนุญาตให้หักเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบ

5. กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนารวมทั้งการทดสอบที่เกี่ยวข้อง

6. กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา

7. กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งไม่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถหักเงินที่ใช้ไปในการลงทุนในการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากกำไรสุทธิได้

8. กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับลดหน่อยภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิได้จากการลงทุนแทนการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อเพิ่มสิทธิและประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมในกรณีที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

9. กำหนดขยายระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมที่ได้จ่ายภายหลังพ้นระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลนั้นเป็นเวลาหกเดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ