พาณิชย์ ทบทวนเป้าส่งออกช่วง ก.ย.รอลุ้นแนวโน้มช่วงที่เหลือปีนี้-บาทแข็งยังไม่กระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 26, 2016 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้อีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.59 หลังจากมูลค่าการส่งออกยังคงติดลบอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ราว 5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานที่ให้ไว้กับทูตพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม จากมูลค่าส่งออกช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค.ของช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 56-59) พบว่าในเดือน ส.ค.จะมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, เดือน ก.ย.เฉลี่ยราว 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ , เดือน ต.ค.ราว 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, เดือน พ.ย.ราว 18,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเดือน ธ.ค.อยู่ที่ราว 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมแล้วประมาณ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น หากนำมาเทียบทั้งปีก็คาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปีก่อน และได้รับคำยืนยันจากผู้ส่งออกหลายรายว่าน่าจะส่งออกได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ด้านนายสมเกียรติ ศรีรัตน์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ยอมรับว่า ตัวเลขการส่งออกในปีนี้คงเป็นบวกได้ยาก แต่ก็จะพยายามไม่ให้แย่ไปกว่าปัจจุบัน

"ผมว่าโอกาสยากมากเลย แต่ถ้าลบก็ลบน้อยๆ ไม่น่าจะลบเยอะ เพราะตอนนี้ก็อยู่ -2% แต่สมมติถ้าสถานการณ์ดีขึ้นปลายปีก็จะทำให้ลบได้น้อยกว่านี้ พยายามไม่ให้แย่กว่านี้"นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลต่อการส่งออกในช่วงเวลา 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ มองว่าเป็นเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกี่ยวเนื่องทั้งน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ซึ่งสินค้าทั้ง 3 ตัวรวมกันมีสัดส่วนราว 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งตามหลักการแล้วปกติในช่วงไตรมาสสุดท้ายเข้าสู่ฤดูหนาวราคาน้ำมันมีทิศทางที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก

ส่วนปัจจัยเรื่องค่าเงินขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ เช่นกรณีของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจแข็งค่าขึ้นหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะกระทบต่อค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ให้อ่อนลง และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ และปัจจัยสภาวะเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนักในปีนี้

"ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก เพราะค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงค์โปร์ มาเลเซีย หรือญี่ปุ่น แต่ต้องติดตามนโยบายจากประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯจะมีการเดินหน้าเรื่อง QE หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้" นายสมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ