กรมเชื้อเพลิงฯ เผยแท่นผลิตน้ำมันอ่าวไทยปิดอีก 1 แท่นในปีนี้รับผลกระทบราคาน้ำมันยังต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 29, 2016 07:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สาขาประเทศไทย ผู้รับสัมปทานผลิตปิโตรเลียมแหล่งน้ำมันสงขลา ในอ่าวไทย ได้แจ้งหยุดการผลิตน้ำมันจากแท่นผลิตน้ำมันอีก 1 แท่น หลังเมื่อปลายปีที่แล้วได้หยุดการผลิตไปแล้ว 2 แท่น เนื่องจากเผชิญกับราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงและยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่คุ้มค่าในการผลิต ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวได้ปิดการผลิตไปแล้วรวม 3 แท่นผลิตจากที่มีอยู่ 5 แท่นผลิต

"ที่หยุดการผลิตไปแล้ว คือ ซีอีซี ตอนนี้เหลือแค่ 2 แท่น เดิมเขามี 5 แท่น ปลายปีที่แล้วเหลือ 3 แท่น ตอนนี้หยุดอีก 1 แท่นก็เหลือ 2 แท่น ปริมาณการผลิตปัจจุบันเหลือราว 1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ผลิตประมาณ 1.5-1.6 หมื่นบาร์เรลต่อวัน"นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ปริมาณหลุมเจาะปิโตรเลียมของไทยในปีนี้น่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิมและยังต่อเนื่องถึงในปีหน้า เพื่อให้รักษาอัตราการผลิตปิโตรเลียมของประเทศ หลังล่าสุดได้เจรจากับกลุ่มเชฟรอน และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ผู้ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมใหญ่ของประเทศให้ชะลอการขอลดสัดส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่งออกไปก่อนจากเดิมที่ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะขอลดสัดส่วนการผลิตจากปริมาณซื้อขายตามสัญญาได้ ในช่วงใกล้จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66

ขณะที่คาดว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมคงจะอยู่ในปริมาณไม่มากนัก และล่าสุดอาจจะมีบริษัท โอเฟียร์ ประเทศไทย (บัวหลวง) จำกัด ที่จะคืนสิทธิแปลงสำรวจ G4/50 ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งเกาะสมุยและแหล่งบัวหลวง หลังจากที่ได้รับสัมปทานสำรวจมานานแล้ว และดำเนินการขุดหลุมสำรวจมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่พบปิโตรเลียม โดยบริษัทได้แจ้งความประสงค์มาแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งหนังสือเข้ามาอย่างเป็นทางการ

สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง ของบริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ ที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานนั้น ปัจจุบันทางเอ็กซอนฯยังไม่ได้ยื่นเรื่องขอต่ออายุสัมปทานเข้ามา ซึ่งจะสามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก 10 ปีตามกฎหมาย โดยปัจจุบันแหล่งดังกล่าวยังมีการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ราวไม่เกิน 10 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุนของกลุ่มผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งต่าง ๆ นั้น จะมีอยู่เกือบทุกปีซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ปกติ และจะต้องมีการรายงานมายังคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยในส่วนของกลุ่มเชฟรอนฯที่มีข่าวเรื่องการจะขายหุ้น 16% ในแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามาแต่อย่างใด ส่วนการปรับลดจำนวนพนักงานที่ทำงานด้านปิโตรเลียมนั้นเชื่อว่าคงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มเชฟรอนฯได้มีการปรับโครงสร้างเพื่อให้ขนาดเล็กลงไปแล้ว และในกลุ่มของ PTTEP ก็ไม่ได้มีการปรับตัวมากนัก

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่ารายได้จากปิโตรเลียมที่จะส่งเข้าให้ภาครัฐในปีงบประมาณ 2559 น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2558 แม้ว่าราคาน้ำมันในปีนี้อาจจะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นปิโตรเลียมหลักที่ผลิตได้จากอ่าวไทยนั้นมีราคาลดลงตามสูตรราคาที่จะปรับตัวช้ากว่าราคาน้ำมันราว 6-12 เดือน

ขณะเดียวกันในส่วนของกรมฯก็ยังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายใน หลังในอนาคตไทยจะต้องมีการนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามามากขึ้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อออกกฎหมายรองรับให้เกิดความปลอดภัยทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการขนส่ง โดยเบื้องต้นอาจจะออกเป็นพ.ร.บ.เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า และเชื้อเพลิงทางเลือก ซึ่งเบื้องต้นกรมฯได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนนี้ รวมถึงการดูแลนำเข้า LNG ทั้งหมดด้วย โดยในส่วนของ LNG กำลังพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายหรือไม่ หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งหากเป็นในกรณีนั้นก็จะสามารถออกเป็นเพียงกฎกระทรวงเพื่อมาดูแล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ