กรมบัญชีกลาง จี้ส่วนราชการเร่งขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เตรียมรายงานผลต่อครม.สิ้นก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 29, 2016 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยหลังการประชุมชี้แจงมาตรการเร่งรัดการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณว่า กรมบัญชีกลางได้ชี้แจงมาตรการเพื่อกระตุ้นการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐ การปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2559 รวมทั้งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานตระหนักและเร่งรัดการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบายและบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลต่อไป

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สำหรับมาตรการต่างๆ ได้เวียนแจ้งหน่วยงานทราบแล้ว ขอกำชับในเรื่องของการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ขยายระยะเวลาให้กับส่วนราชการที่นำงบประมาณ ปี 2559 ที่ยังคงเหลือ ณ วันที่ 30 ก.ย.59 และเบิกจ่ายลักษณะงบดำเนินงาน เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาองค์กรและพัฒนาบุคลากร สามารถกันเงินและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธ.ค.59 เพื่อเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

สำหรับการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น สามารถเริ่มดำเนินการตามกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง TOR การเผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้ก่อน ได้ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.59 เป็นต้นไป โดยจะลงนามในสัญญาได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณ 2560 มีผลใช้บังคับ และได้รับการจัดสรรงบจากสำนักงบประมาณแล้วเท่านั้น

"สำหรับมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายที่ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามเกณฑ์ของมาตรการดังกล่าว ให้เตรียมประกาศการประกวดราคา เนื่องจากแต่ละกระบวนการต้องใช้เวลา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาได้รับงบประมาณก็จะได้ไม่เสียเวลา" นายมนัส กล่าว

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรม และทำให้รัฐบาลมีข้อมูลในการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน กรมบัญชีกลางจะรวบรวมผลการดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างจากข้อมูลในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ตั้งแต่ขั้นตอนจัดทำร่าง TOR ผู้มีอำนาจเห็นชอบรายงาน ขอซื้อขอจ้าง ประกาศเชิญชวน และผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง รวมทั้งผลการเบิกจ่ายงบประมาณของทุกหน่วยงาน รายงานให้ ครม.ทราบเป็นรายเดือน โดยจะเริ่มรายงานตั้งแต่เดือน ก.ย.59 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอันจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้เป็นผู้จ่ายเงินสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนโดยตรง เริ่มจากการจ่ายเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิโดยตรง ในอัตราเดือนละ 400 บาท ในวันที่ 9 ก.ย.59 พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธินี้ทั้งสิ้น 85,000 คน ใช้เงินประมาณ 34 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินสวัสดิการจากภาครัฐให้กับประชาชนโดยตรง และจะมีการขยายผลไปยังเงินสวัสดิการอื่นๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ เป็นต้น

"กรมบัญชีกลาง พร้อมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) และแผนการปฏิรูปประเทศ" นายมนัสกล่าว

อธิบดีกรมบัญชีกลาง ยังคาดว่า ในปีงบประมาณรายจ่าย 2559 นี้ จะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ประมาณ 80% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 87% โดยขณะนี้ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 67% ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการผลักดันงบลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วงเงินรวม 1.49 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเบิกจ่ายได้แล้ว 1.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 85% ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ 5 ล้าน) ซึ่งล่าสุดเบิกจ่ายได้แล้ว 93% นอกจากนี้ยังมีโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 2 แสนบาท) และโครงการลงทุนขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ได้เพิ่มเติมเข้ามาจากงบลงทุนปกติ ทำให้ส่วนราชการต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน แต่หากพิจารณาแล้วการเบิกจ่ายงบลงทุนของทั้ง 2 ส่วนนี้ เมื่อรวมกันแล้วจะเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ที่ประชุม ครม.ได้มมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐในไตรมาส 4 ปี 2559 โดยระบุให้ในส่วนของงบลงทุน ถ้ามูลค่าโครงการไม่เกิน 2 ล้านบาท จะให้ก่อหนี้และเบิกจ่ายภายในสิ้นปีนี้ หากวงเงินตั้งแต่ 2-1,000 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ภายในสิ้นปีนี้เช่นเดียวกัน และหากเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ภายในมีนาคม 60

อย่างไรก็ดี หากโครงการใดที่ไม่สามารถทำสัญญาหรือเบิกจ่ายได้ทันตามกำหนดภายในสิ้นปีนี้ อาจทำให้โครงการต้องถูกยกเลิก ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การโอนงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2559 ทั้งนี้เพื่อโอนงบลงทุนของส่วนราชการที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ภายในกรอบเวลาที่ ครม.กำหนด กลับเข้าไปในงบกลาง เพื่อนำไปใช้ในโครงการอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ