ผู้ว่า ธปท. เผยค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องภูมิภาค แม้ผันผวนตามปัจจัยศก. ยันดูแลให้มีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2016 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันว่า ความผันผวนของค่าเงินจะยังคงมีต่อไป ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านต่างประเทศค่อนข้างมาก ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ไมว่าจะเป็นนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีผลทำให้ค่าเงินของมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในโลก แต่ทั้งนี้มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยแนะให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

“สถานการณ์บางช่วงที่อาจรู้สึกว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุล บาทที่แข็งค่าขึ้นยังสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค แต่สิ่งที่สำคัญมากที่นักธุรกิจต้องระมัดระวังและบริหาร คือความเสี่ยงที่มาจากความผันผวนของค่าเงิน ธปท.คิดว่าสำคัญมาก เราทำงานร่วมกับสถาบันการเงินในการส่งเสิรมให้ธุรกิจไทย และเศรษฐกิจไทย มีศักยภาพ มีความสามารถในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินต่างๆ ได้มากขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4% ซึ่งถือว่ายังมีความผันผวนอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ เช่น ริงกิตของมาเลเซีย เงินวอนของเกาหลี และเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างดี เพราะความผันผวนจะอยู่กับเราต่อไป เป็นทักษะหนึ่งที่ภาคธุรกิจไทยและสถาบันการเงินไทยจะต้องรับให้ได้

ผู้ว่า ธปท. กล่าวด้วยว่า ธปท.ยังให้ความสำคัญในเรื่องกฎเกณฑ์การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศให้มีความสมดุลมากขึ้นทั้งในเรื่องเงินไหลเข้าและไหลออก ซึ่งประเทศไทยมีการเปิดเสรีในหลายมิติที่จะส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และสามารถนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น

“ท้ายสุดถ้าเราเห็นว่ามีเงินที่ไหลเข้ามาในบางช่วงเวลา ที่อาจเป็นผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เราจะเข้าไปดูแลดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา และมีเครื่องมือหลายอย่างที่ใช้ได้ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้สอดคล้องกับเสถียรภาพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น" นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป เพราะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศนั้น ผู้ว่า ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้หารือกับภาคเอกชนอยู่ตลอด ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญคือ ค่าเงินบาทจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต่างไปจากประเทศคู่แข่ง หรือประเทศคู่ค้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันกับสกุลเงินในภูมิภาค

“ผู้ส่งออกบางราย อาจทำธุรกรรมทางการเงินในบางสกุลเป็นหลัก แต่เวลาที่เราบริหารเศรษฐกิจมหภาค เราต้องดูตระกร้าเงินให้สะท้อนกับเศรษฐกิจมหภาคของไทย" นายวิรไท ระบุ

สำหรับเครื่องมือทางการเงินอีกตัวที่ต้องการแนะนำให้ผู้ส่งออกให้ความสำคัญมากขึ้น คือ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระเงิน เพราะจะเห็นว่าสัดส่วนการค้าในภูมิภาคเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ธปท.จึงได้ร่วมกับสถาบันการเงินให้ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทั้งเงินหยวน ริงกิตมาเลย เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและจะเกิดขึ้นต่อไปคือ ปัญหาเงินสกลุหลักของโลกที่มีความผันผวนสูง

“อยากชวนผู้ประกอบการให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นกันมากขึ้น สำหรับคนที่มีธุรกรรมการค้า การชำระเงินในภูมิภาคก็มีโอกาสใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งนี้ความผันผวนของค่าเงินนั้นมีโอกาสจะผันผวนต่อเนื่อง และจะยังอยู่กับเราต่อไป" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ในกรอบการทำนโยบายของ ธปท. ได้มีเครื่องมือหลายด้านที่ใช้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่นโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และเครื่องมือที่เข้าไปช่วยกำกับการทำงานของสถาบันการเงินโดยหวังให้เกิดผลทางเศรษฐกิจมหภาค เป็นต้น แต่เครื่องมือสุดท้ายที่ ธนาคารกลางจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คือ เครื่องมือที่เกี่ยวกับการบริหารเงินที่ไหลเข้าออกระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และต้องแน่ใจว่ามีเครื่องมีนี้อยู่ใน menu list และพร้อมจะนำมาใช้ให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ