(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ส.ค.59 ขยายตัว 0.29%,Core CPI ขยายตัว 0.79%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2016 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ส.ค.59 อยู่ที่ 106.64 ขยายตัว 0.29% เมื่อเทียบกับ ส.ค.58 แต่หดตัว -0.04% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ CPI ช่วง 8 เดือนแรกปี 59 (ม.ค.-ส.ค.) หดตัว -0.03%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ส.ค.59 อยู่ที่ 106.80 ขยายตัว 0.79% เมื่อเทียบกับ ส.ค.58 และขยายตัว 0.07% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 7 เดือนแรกปี 59 ขยายตัว 0.74%

ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน ส.ค.59 อยู่ที่ 116.66 เพิ่มขึ้น 1.88% เทียบกับเดือน ส.ค.58 และขยายตัว 0.14% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.39 หดตัว -0.59% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.58 และหดตัว -0.14% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค.59 ที่เพิ่มขึ้น 0.29% จากสินค้าอาหารเป็นสำคัญ อาทิ สินค้าอาหารสด อาทิ ผักและผลไม้สด กับข้าวสำเร็จรูป ปลาและสัตว์น้ำ และบุหรี่ ผลจากการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ ขณะที่ราคาสินค้าและบริการโดยรวมเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.59 ลดลงเล็กน้อย -0.04% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ นอกจากนี้สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ที่ราคาลดลง ได้แก่ ครีมนวดผม กาแฟผงส เร็จรูป และกระดาษชำระ ส่วนน้ำตาลทราย นมสด ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูปราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือน ส.ค.59 เท่ากับ 106.64 เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.58 สูงขึ้น 0.29% เป็นผลจาก 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.67% 2) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ จากผลสะสมของปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือน ก.พ.59 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.18%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะการใช้จ่ายเพื่อการครองชีพของครัวเรือนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อประชาชนชนอยู่ในเกณฑ์ดี สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ภาคเกษตรและภาคบริการที่สูงขึ้น รวมทั้งมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล

"อัตราเงินเฟ้อยังขยายตัวได้ต่ำถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นแต่ราคายังคงต่ำกว่าปีก่อนหน้า ดังนั้นหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ยังคงกดดันอัตราเงินเฟ้อ เช่นเดียวกัน กับหมวดเคหสถาน ที่ราคาลดลงจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือนมกราคม-เมษายน ส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อ -0.33% และ -0.32% ตามลำดับ" นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 4/59 คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูงในช่วงเทศกาลปลายปี

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไว้เท่าระดับเดิมที่ 0-1% โดยได้มีการปรับสมมติฐานในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนไปอยู่ที่ระดับ 35-37 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 36-38 บาท/ดอลลาร์ และปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบมาอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมที่ 30-40 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบดูไบถูกชดเชยด้วยผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ประมาณการเงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเดิมที่ตั้งไว้ ขณะที่สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ยังคงเดิมที่ 2.8-3.8%

"ที่เราปรับช่วงราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐ แต่อุปทานน้ำมันดิบยังคงทรงตัว ส่วนที่ปรับสมมติฐานเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นจากเดิมเพราะจากที่ตลาดลดคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่ต้องจับตาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในรอบเดือนกันยายนและธันวาคมต่อไป" นายสมเกียรติ ระบุ

สำหรับปัจจัยที่ยังเป็นตัวสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพ ขณะที่อุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ มาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคการส่งออก และภาคครัวเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ