ศูนย์ช่วยเหลือฯ เผยคลังอยู่ระหว่างพิจารณาจัดสรรงบเพิ่มเติมอีก 2 พันลบ. ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2016 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) เปิดเผยว่า ในอนาคตการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาด้านการขาดแคลนเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในประกอบธุรกิจจะรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) อยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับงบประมาณก้อนแรก 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ จะได้กำหนดหลักเกณฑ์รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนวงเงินการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูและผ่านการคัดกรองจากศูนย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าในเบื้องต้นหลักเกณฑ์การให้วงเงินสินเชื่อแบบปลอดอัตราดอกเบี้ย รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท มีระยะเวลาให้กู้ 5-7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนกิจการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจต่อไป

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) ครบ 1 เดือน เพื่อเป็นช่องทางการรวบรวมปัญหาและแนวทางการฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ที่ขาดปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเข้มแข็งและธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ยื่นเรื่องร้องขอความช่วยเหลือผ่านจุดบริการทั่วประเทศผ่านหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

จากข้อมูลเชิงสถิตินับจากเริ่มเปิดศูนย์ฯ วันที่ 21 กรกฎาคม - 5 กันยายน 2559 พบว่า มีผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือมาทั้งสิ้น 1,075 ราย 2,060 เรื่อง โดยมีผู้ประกอบการ SMEs จากกรุงเทพฯ ร้องขอความช่วยเหลือสูงสุด จำนวน 85 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา 71 ราย จังหวัดแพร่ 60 ราย จังหวัดอุบลราชธานี 34 ราย จังหวัดเพชรบูรณ์ 31 ราย และส่วนใหญ่เป็นการร้องขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาด้านการเงินที่ขาดแคลนเงินทุน เป็นจำนวน 920 ราย หรือคิดเป็น 45% ของจำนวนผู้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ปัญหาด้านการตลาด จำนวน 427 ราย คิดเป็น 21% ปัญหาด้านการผลิต จำนวน 284 ราย คิดเป็น 14% และด้านการบริหาร จำนวน 157 ราย คิดเป็น 7% ที่เหลือเป็นด้านมาตรฐานสินค้า ด้านคดีความและด้านอื่นๆ ตามลำดับ

“จากจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ได้ยื่นร้องขอความช่วยเหลือเข้ามานั้น ทางศูนย์ฯ สามารถให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูให้แก่ผู้ประกอบการให้กลับมาเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้แล้ว 37 ราย และมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีกกว่า 1,739 ราย ที่อยู่ในขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับด้านการขาดแคลนเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ" นายสนธิรัตน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ