3 หน่วยงานเซ็น MOU ร่วมมือพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถระบบรางของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2016 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและการเสวนา เรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของประเทศว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ร่วมมือทางวิชาการเพื่อรองรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต โดยการพัฒนาระบบราง จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ซึ่งจะกระตุ้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบรางและอุตฯที่เกี่ยวเนื่องได้

ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ร.ฟ.ท.และผู้ประกอบการไทย ทั้งด้าน วิชาการ มาตรฐาน การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งระบบรางและตัวรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีความต้องการด้านบุคลากรด้านระบบรางในช่วงปี 2560-2564 ประมาณ 30,000 คน

"ไทยมีศักยภาพในการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด ขณะที่ยังต้องพัฒนาในส่วนที่อยู่เหนือดิน เข่น ราง ระบบอาณัติสัญญาณ ชิ้นส่วน ตัวรถไฟ หัวจักร ระบบไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อน ปัจจุบันยังต้องนำเข้า ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20-30% ของโครงการ"รมว.คมนาคม กล่าว

ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนยุทศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (2560-2564) ในระยะที่ 2 (Roadmap) และเตรียมการระยะที่ 3 ตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมทั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑล และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมูลค่าลงทุนในระยะ 8 ปี รวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เพื่อบูรณาการการทำงาน และส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์สำหรับระบบราง การพัฒนาห้องปฎิบัติการในประเทศด้านการวิเคราะห์ทดสอบ คุณภาพชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาด้านระบบรางอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ