(เพิ่มเติม) กสทช.ประชุมผู้เกี่ยวข้องวาง 5 มาตรการสร้างความเชื่อมั่นการใช้บริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2016 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(เลขาธิการ กสทช.) ได้ประชุมร่วมกับนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความเชื่อมั่น และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้บริการของ 2 อุตสาหกรรม

โดยในระยะสั้น มีการดำเนินการ 5 เรื่อง คือ 1. สำนักงาน กสทช., ธปท., สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช. จะออกหนังสือกำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ดำเนินตามกระบวนการพิสูจน์ตัวตน และกำหนดมาตรการให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานอย่างเคร่งครัดด้วย

2. ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการ mobile Banking, Internet Banking และ Prompt Pay ในกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่สูญหาย ควรจะต้องดำเนินการดังนี้ 1.จะต้องแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ที่ใช้บริการอยู่ทราบเพื่อยกเลิกการใช้บริการดังกล่าว และ 2. แจ้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อขอออกซิมการ์ดใหม่ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตน

3. ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ใช้บริการได้ดำเนินการแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ระงับบริการ Mobile Banking, Internet Banking และ Prompt Pay ผู้ใช้บริการไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

4. ในระหว่างที่ยังไม่มีระบบการเชื่อมต่อตรงระหว่างธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ธนาคารพาณิชย์แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้งาน Mobile Banking, Internet Banking และ Prompt Pay ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทราบ เพื่อจะได้มีการดูแลเป็นกรณีพิเศษ

5. การออกซิมการ์ดใหม่สำหรับเลขหมายที่มีการใช้บริการ mobile Banking และ Internet Banking ผู้ใช้บริการจะต้องดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการได้

โดยทั้ง 4 หน่วยงานจะทำงานร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดในการศึกษาและนำเสนอแนวทางในรายละเอียด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการให้กับประชาชน โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายรัฐบาล National e-Payment ในระยะยาวต่อไป

นายฐากร กล่าวว่า หลังการหารือวันนี้จะส่งรายชื่อผู้ใช้บริการ Prompt Pay 15 ล้านเลขหมายให้สถาบันการเงิน และจะส่งให้โอเปอเรเตอร์เพื่อให้ดูแลพิเศษ และหากมีการโอนย้ายเลขหมายหรือขอซิมใหม่ เจ้าของเลขหมายต้องแสดงตัวตน และ กรณีโทรศัพท์มือถือหาย ต้องรีบแจ้งสถาบันการเงินที่ใช้บริการและแจ้งโอเปอเรเตอร์เพื่อหยุดการใช้งานชั่วคราว ขณะที่ความรับผิดชอบกรณีที่ผู้ใช้ได้แจ้งต่อสถาบันการเงินแล้วจะอยู่ที่สถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการสแกนนิ้วเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนมากยิ่งขึ้นโดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชนผู้ใช้บริการ

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยและสมาคมโทรคมนาคมฯไม่ได้แชร์ข้อมูลกันจึงทำให้ไม่เข้าใจลึกซึ้ง ต่อไปนี้ 2 สมาคมได้มีข้อตกลงในหลักการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อให้ระบบความปลอดภัยสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การบริการการเงินออนไลน์มีการเติบโตต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ