"ศุภชัย พานิชภักดิ์"มองศก.ทั่วโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง แนะรบ.เน้นผลักดันศก.ในปท.โดยเน้นการลงทุนเพิ่มรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 20, 2016 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในหัวข้อ "บริบทใหม่ของไทยในกระแสเศรษฐกิจโลก" ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง หรือมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเมื่อมองไปในปี 50-51 จะเห็นได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในประเทศกำลังพัฒนา หรือตลาดเกิดใหม่ จะเป็นตัวชักนำเศรษฐกิจให้มีการขับเคลื่อน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับมีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาหนี้ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะตื่นตัวจนเกินเหตุ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถเติบโตได้

แต่ปรากฎว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่กำลังพัฒนาเองก็อยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นเดียวกัน จากความต้องการโลก (Global Demand) ที่ชะลอตัวเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ของกลุ่ม Emerging Markets เช่น จีน อินเดีย และบราซิล ไม่สามารถพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศได้ เนื่องจากการค้ามีความชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 58 ไปจนถึงปี 60 น่าจะเห็นการชะลอตัวในด้านการผลิตสินค้า และการค้า แม้ว่าแต่ละประเทศจะหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศก็ตาม

การเติบโตของการค้าโลกในปีผ่านมามีการเติบโตอยู่ราว 2.5-3% จากเดิมการค้าโลกจะเติบโตได้ราว 7-8% หรือโตมากกว่าเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยที่โลกไม่ยอมขยายตัว ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวในอัตราเดิมได้

"ขณะนี้มันไม่มีทางออก จากไม่มีเศรษฐกิจไหนที่จะนำได้ โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่เคยอยู่ในมือของสหรัฐฯ มาอยู่ในมือของจีน หรือกลุ่มเอเชีย ซึ่งในอนาคตก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของกฎระเบียบการค้า การลงทุน อย่างมาก โดยจีนถือว่ามีการค้าขายเป็นอันดับ 1 ของโลก จากการที่หลาย ๆ ประเทศเข้ามาลงทุน

ประกอบกับเอเชียก็ถือว่าเป็น 2 ใน 3 ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันสหรัฐฯเองได้มีการรวมกลุ่มในเอเชีย เพื่อช่วยให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาทในเอเชียมากขึ้น และรักษาตลาดในเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสหรัฐฯจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอำนาจใหม่ของจีน และสิ่งที่เป็นอำนาจของอาเซียน และสหรัฐฯที่จะมีส่วนร่วมด้วย ทำให้ต่อจากนี้อำนาจของเอเชียก็จะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก"นายศุภชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริบทใหม่ของเศรษฐกิจโลก จะเปลี่ยนผ่านอำนาจมาสู่เอเชีย แต่ยังมีความกังวลถึงเรื่องของภูมิศาสตร์, การต่อรองทางการค้า และการกีดกันระหว่างกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการหาบทสรุปร่วมกัน รวมถึงเรื่องของวิกฤตการณ์ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากที่สุดในขณะนี้ คือ โลกที่พัฒนาแล้วยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง แม้จะมีการแก้ไขปัญหาต่างๆมาโดยตลอด ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิด หรือดำเนินนโยบายการเงินติดลบ

สำหรับบริบทของประเทศไทยในขณะนี้ นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม 77 (Group of 77) หรือการรวมเศรษฐกิจผลประโยชน์และสร้างขีดความสามารถในการเจรจาต่อรองร่วมที่เพิ่มขึ้นในสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันดำเนินนโยบายผลักดันให้โลกขยายตัวไปในทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการผสานนโยบายที่ต้องไปด้วยกัน และให้มีการร่วมกลุ่ม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้มีการเติบโตและมีขนาดใหญ่ หรือ อาเซียน บวก 6 รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินของโลกที่มีความผันผวนมาก ซึ่งจะต้องทำให้อาเซียน เป็นอาเซียน ไฟแนนซ์เชียล ฟันด์ ขึ้นมาเอง โดยสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ระหว่างการผลักดันนโยบาย

ส่วนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ ถือว่ามีการแก้ไขปัญหาที่ดีมาก และมีความโปร่งใส เชื่อว่ารัฐบาลจะฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ด้วยดี ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจในลำดับต่อไป แนะรัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาระหนี้สิน แต่ควรจะมุ่งเน้นไปยังการเพิ่มรายได้ของประชากรให้ดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร และกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น

"ผมต้องการเห็นคนไทยมีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งคนไทยจะมีรายได้ดีขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงทุนมากขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มขีดความสามารถของคน ในการฝึกอบรมแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ การปฏิรูปการศึกษา โดยเริ่มจากการปฎิรูปกระทรวงศึกษาธิการก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มองว่าเป็นรากฐานของปัญหาของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนของบ้านเราที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น"

ขณะที่ มองว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีขึ้นในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ มองว่าเฟดไม่ควรจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งถ้ามีการปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้มีความผันผวน และยิ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน และความไม่แน่นอนในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ