รมว.พาณิชย์ ชี้ช่องขยายการค้า-การลงทุนในเมียนมา เล็งใช้เป็นประตูสู่เอเชียใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2016 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา จัดทัพธุรกิจไทยไปเมียนมา ในหัวข้อ "ยกระดับการค้าการลงทุนไทย ในตลาดอาเซียน" ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าระหว่างกันของไทยกับ CLMV ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (2554-2558) ขยายตัวดีมาก เฉลี่ยสูงถึง 12.6% ต่อปี โดยไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศนี้ประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าสำคัญ อาทิ ยานยนต์, เคมีภัณฑ์, เครื่องจักรกล และวัสดุก่อสร้าง

ในส่วนของเมียนมานั้น ไทยส่งออกไปเมียนมาเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 2559 ขยายตัว 2.2% ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-เมียนมา ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะผลักดันเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน เป็น 10,000-12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 60 และจะร่วมมือยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ ผ่านการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแม่สอด-เมียวดี ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ เมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการค้ากับไทยสูงมาก เนื่องจากภาคการผลิตของเมียนมายังมีประสิทธิภาพไม่มากนักและพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ และในสายตาของชาวเมียนมาสินค้าไทยมีคุณภาพ รูปลักษณ์สวยงามและทันสมัย เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างจีนและเวียดนาม อีกทั้งยังมองว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าระดับบน ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกให้แก่ผู้ใช้ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สินค้าไทยเป็นสินค้าลำดับต้นๆ ที่ครองใจผู้บริโภคชาวเมียนมามาได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเมื่อประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง สินค้าไทยก็ยังมีแนวโน้มที่จะสามารถขยายตลาดเมียนมาได้เพิ่มขึ้นอีกในระยะยาว การค้าส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดนโดยผ่านด่านต่างๆ ทั้งจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และจุดผ่อนปรนที่ติดกับ 10 จังหวัดชายแดนของไทย

นอกจากนั้น ภายใต้กลยุทธ์ Strategic Partnership ไทยยังสามารถใช้เมียนมาเป็นประตูสู่อินเดียและเอเชียใต้ได้ นับเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสการลงทุนและขยายช่องทางการค้าและบริการไปเมียนมาเพิ่มขึ้น

นอกเหนือจากความร่วมมือในระดับประเทศที่รัฐบาลไทยผลักดัน เพื่อเปิดช่องทางการค้าและความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทุกระดับแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งเจาะตลาดที่มีศักยภาพทั้งเมืองหลักและเมืองรองทางเศรษฐกิจ (City Focus) ในทุกมิติทั้งด้านการค้าและการลงทุนประกอบธุรกิจ ผ่านการขยายช่องทางการค้า ทั้งในช่องทาง modern trade และ E-Commerce

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปีหน้ากระทรวงฯ มีกำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าและบริการไทยทั้งในเมืองเศรษฐกิจหลักของเมียนมา (นครย่างกุ้ง) และเมืองรอง อาทิ กรุงเนปิดอว์, มัณฑะเลย์ ตลอดจนได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในแต่ละประเทศ เพื่อให้บริการข้อมูลข้อมูลและให้คำปรึกษาเชิงลึก ประสานงาน จัดทำนัดหมายในการพบหารือหน่วยงานต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยที่เดินทางไปติดต่อธุรกิจในประเทศอาเซียน

พร้อมระบุว่า การทำงานของภาครัฐจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จได้ หากขาดความร่วมมือจากภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเชิงรุก เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน ภายใต้การรวมตัวของ AEC และศักยภาพของประเทศต่างๆ ใน AEC โดยเน้นในด้านต่างๆ ดังนี้

1) การหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากแหล่งวัตถุดิบราคาถูก และการลงทุนเปิดธุรกิจหรือขยายฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมียนมาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องและค่าแรงยังอยู่ในระดับต่ำ

2) การปรับกลยุทธ์การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มและความหลากหลายให้กับสินค้า-บริการ ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการของผู้ประกอบการไทย ซึ่งในโลกธุรกิจปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก ผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นต้องสร้างจุดแข็งให้ได้

3) การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ด้านข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ อาทิ การบริหารต้นทุน การลดความเสี่ยงทางธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวก นโยบายเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนของภาครัฐ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนหรือทำการค้าในเมียนมา จึงควรศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างความเข้าใจกับพฤติกรรมและตลาดผู้บริโภคท้องถิ่น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ