คลัง ดึงเอกชนบริหารค่ารักษาพยาบาลขรก.วงเงิน 6 หมื่นลบ. คาดเริ่มใช้ปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 26, 2016 08:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยเกี่ยวกับแนวทางที่ให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ วงเงิน 6 หมื่นล้านบาทแล้ว เบื้องต้นรูปแบบการให้สิทธิ์รักษาพยาบาลของข้าราชการยังยึดภายใต้สิทธิ์การรักษาแบบเดิม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการศึกษาภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ และจะสามารถเริ่มมีผลใช้ในปี 2560

ทั้งนี้ การให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการแทนกรมบัญชีกลาง เพื่อให้การใช้งบประมาณในส่วนนี้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทประกันสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลได้จริง

"ยืนยันว่าผู้มีสิทธิ์ทั้งข้าราชการและบุคคลในครอบครัวกว่า 6 ล้านรายจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังได้สิทธิ์ตามเดิม เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นเพียงให้บริษัทประกันเป็นผู้บริหารจัดการวงเงินต่อปีที่ 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น" นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวต่อว่า ในช่วงปีงบประมาณ 56-59 ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและบุคคลในครอบครัวมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น และการเข้าสู่สังคมสูงอายุเพิ่มขึ้น รวมถึงที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละรายการให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้นโดยผลการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของค่ารักษาพยาบาลจนถึง ส.ค. 59 เบิกจ่ายเงินแล้ว จำนวน 6.46 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะเบิกจ่ายประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 59 กรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การเบิกค่ายากลับบ้านนอกเหนือจากระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRGs (Diagnosis Ralated Groups) การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิต การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีแพทย์แผนไทย การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิต และการเบิกค่ารักษาทันตกรรม รวมถึงกรมบัญชีกลางยังได้ตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาล โดยพบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุจริตยา จำนวน 11 ราย ขณะนี้ดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐาน 9 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ