(เพิ่มเติม1) ผู้ว่า ธปท.เตือนอย่ามองแค่ GDP ระยะสั้น เสนอ 4 ประเด็นวางรากฐาน-ผลักดัน ศก.โตยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2016 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ "Thailand Agenda 2030 : วิสัยทัศน์การพัฒนาใหม่สู่ประเทศไทยยั่งยืน"ว่า ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะสั้นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ปัญหาเฉพาะหน้ามาบดบังเรื่องสำคัญในระยะยาว

"ตัวเลขเศรษฐกิจที่เราควรให้ความสำคัญจึงไม่ได้มีแค่การเติบโตของ GDP ในปีนี้หรือปีหน้า แต่ต้องมองไปถึงอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาวด้วย"นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะปัญหาต่างๆ ในโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีความผันผวนสูงขึ้น รวมทั้งมีความเชื่อมโยงและซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นจึงเห็นว่าการพัฒนาในระยะต่อไปจำเป็นต้องมองถึงมิติในระยะยาวมากขึ้น การมองมิติระยะยาวต้องมองในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการพัฒนาบุคลากร

ในภาวะที่ปกติเรามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องในระยะสั้นค่อนข้างมาก ทั้งการบริโภค การทำนโยบายเศรษฐิจที่หวังจะให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับสูงขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการวางรากฐานของสังคมและเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เพื่อให้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยสามารถก้าวต่อไปได้ ซึ่งมีหลายเรื่องที่สำคัญต่อการวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย เช่น การพัฒนาคน การพัฒนาการศึกษา การเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมาถึงฐานะการออมของประเทศ ภาระของภาครัฐที่ต้องดูแลค่ารักษาพยาบาล ตลาดแรงงานที่จะมีข้อจำกัดมากขึ้น และผลต่อการปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ไทยต้องเตรียมพร้อม

ด้านนโยบายเศรษฐกิจนั้น จะต้องส่งเสริมให้เกิดการตอบรับเทคโนโลยีใหม่ การสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคน ลดข้อจำกัดการทำธุรกิจในปัจจุบัน

และอีกประเด็นที่สำคัญมากที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ ไม่ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง การบริหารนโยบายการเงินต้องให้แน่ใจว่ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น มีเครื่องมือครบถ้วน

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับกับดักเชิงโครงสร้างในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระดับความสามารถทางเทคโนโลยีทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ, กรอบกฎเกณฑ์กติกาที่ล้าสมัยไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจยุคใหม่, การขาดประสิทธิภาพของระบราชการ และที่สำคัญคือโครงสร้างของประชากรไทยที่ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านแรงงาน

ประเทศไทยในอีก 15 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนประชากรที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีนี้ แต่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 16% ในปัจจุบัน เป็น 27% ในอีก 15 ปีข้างหน้า และที่สำคัญในส่วนของระบบการเมืองนั้น ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มฐานเสียงที่สำคัญ รัฐบาลและพรรคการเมืองจะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุมากกว่าที่จะขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไปข้างหน้า เหมือนกับที่หลายประเทศอุตสาหกรรมหลักกำลังติดกับดักอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยได้ก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ.2030 และอนาคตหลังจากนั้นได้อย่างเท่าเทียมกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น จึงเสนอมุมมองใน 4 ประเด็นที่เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เราขับเคลื่อนไหในแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประเด็นแรก การพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนไม่ใช่เพียงหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานร่วมกัน และต้องสนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่เกิดการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างมีพลัง

ประเด็นที่สอง จะต้องปรับการให้น้ำหนักจากการมองระยะสั้นไปสู่การมองระยะยาว การมุ่งให้ความสำคัญกับปัญหาระยะสั้นมากเกินไปอาจทำให้ลืมคิดถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ประเด็นที่สาม ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันในทุกเรื่องหลักที่ทำ โดยรัฐบาลต้องระวังรักษาระดับหนี้สาธารณะให้เหมาะสม ธนาคารกลางต้องรักษาทุนสำรองให้เพียงพอ เพื่อรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และดูแลให้ระบบสถาบันการเงินมีสัดส่วนเงินกองทุนที่มากพอ ธุรกิจต้องระมัดระวังไม่ให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกินควร ขณะที่ประชาชนเองต้องรักษาระดับเงินออม รักษาสุขภาพ และรักษาจิตใจให้สามารถรรับแรงปะทะใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ประเด็นที่สี่ ต้องสร้างสภาวะแวดดล้อมหรือระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัต และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเท่าทันกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและความรุนแรงของปัญหาที่ต้องเผชิญ

"ทั้ง 4 ประเด็นนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมไทยให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้เรามีรากฐานสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวด้วย" นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีที่รายงานนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าการบริโภคอาจจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/59 นั้น การที่จะทำให้การบริโภคเป็นเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทยจะต้องคำนึงถึงความมั่นใจ และความต่อเนื่องด้านรายได้ของประชาชนในวงกว้าง และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการจ้างงาน และการลงทุนเพิ่มขึ้นมากขึ้น กรอบกติกาที่ไม่ทันสถานการณ์หรือไม่เปิดรับต่อธุรกิจใหม่อย่างเพียงพอก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง

ขณะที่กรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาทนั้น ผู้ว่าฯธปท. มองว่า คงจะมีผลทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้น ส่วนจะช่วยทำให้การบริโภคในประเทศในอนาคตปรับตัวดีขึ้นหรือไม่นั้น คงต้องมองในระยะยาวด้วย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวในหัวข้อ "Sustainability, Risk and Opportunity" โดยมองว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงหลายปีมานี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับ 3% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจุบันการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยแทบจะสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากประเทศเราไม่ค่อยขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนเกิดความหวาดระแวงไม่กล้าลงทุน รวมทั้งไม่มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ถือเป็นการยอมรับความเสี่ยงได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ขณะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และสภาพคล่องยังมีสูง

"ประเทศเรามียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแทบจะสูงสุดในโลก เพราะเราไม่ค่อยลงทุน ดุลบัญชีเดินสะพัดถึงเกินดุลมาก สะท้อนว่าเราระแวงไม่กล้าลงทุน ไม่ยอมรับความเสี่ยงเท่าที่ควร ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะแรงงานหดตัว วิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่ชะลอ คือต้องทำให้ประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนั่นคือจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า การที่บุคคลหรือธุรกิจจะยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นนั้น อาจไม่ได้หมายความว่าในภาพรวมจะก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งจะต้องมีระบบเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี อย่างไรก็ดีมองว่า ประเทศไทยยังขาดบูรณาการในเรื่องการดูแลความเสี่ยงในระดับประเทศ แต่ละหน่วยงานต่างดูแลความเสี่ยงเฉพาะในส่วนที่รับผิดชอบ เช่น ความเสี่ยงด้านการเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแลความเสี่ยของ บจ., บลจ. ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดูแลความเสี่ยงในระบบประกันภัย ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาแล้วเป็นความเสี่ยงที่มีต้นตอมาจากที่เดียวกัน

อย่างไรก็ดี มองว่าประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีในการที่มีระบบประเมินความเสี่ยงแบบ Pro active เนื่องจากสิงคโปร์มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงในภาพรวมล่วงหน้า ทำให้เกิดการเตรียมตัวและบริหารความเสี่ยงได้อย่างเป็นขั้นตอนเมื่อถึงเวลาที่ความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกันการสร้างระบบดูแลความเสี่ยงที่ดีขึ้นได้นั้น จะต้องไม่ใช่แค่การลบความเสี่ยงเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องทำให้เราสามารถรองรับความเสี่ยงได้โดยไม่สูญเสียเรื่องของเสถียรภาพในด้านต่างๆ ไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ