(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ คาดเปิดประมูลต.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2016 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอมา ในวงเงิน 29,853 ล้านบาท ระยะทาง 132 กม. จำนวน 19 สถานี โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 59-63

โครงการดังกล่าวอยู่ในแผนเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,000 กม. ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติไปแล้ว 3 เส้นทาง คือ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และในอนาคตจะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 7 เส้นทาง รวมเป็น 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,529 กม. ซึ่งในอีก 20 ปีข้างหน้าจะยกระดับความสามารถในการขนส่งได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.5 เท่า โดยปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟรางคู่ก่อสร้างเสร็จแล้วเพียง 251 กม.

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการนี้ได้ในเดือนต.ค.นี้ ส่วนรถไฟทางคู่อีก 3 เส้นทาง คือ เส้นทางนครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 165 กม. มูลค่าโครงการ 20,145.03 ล้านบาท เส้นทางลพบุรี -ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. มูลค่าโครงการ 24,940.96 ล้านบาท และเส้นทางหัวหิน- ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. มูลค่า 1.03 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.และเปิดประมูลให้ทันภายในปีนี้เช่นกัน

"รถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางจิระ ถือว่าเป็นเส้นทาง Missing Link ที่จะเชื่อมต่อเข้าไปฉะเชิงเทรา ไปท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด"นายออมสิน กล่าว

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะแรกมี 7 เส้นทาง โดยกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการและอยู่ระหว่างก่อสร้างอยู่ 2 เส้นทาง ส่วนอีก 1 เส้นทางคือ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์- ชุมพร ซึ่ง ครม.อนุมัติแล้ว และร่างทีโออาร์ได้ลงเว็บไซด์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่ยังเปิดประมูลไม่ได้ เพราะรอปรับปรุงร่างทีโออาร์ที่ได้นำส่งให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อน คาดว่าน่าจะเสร็จเร็วๆนี้ และจะเปิดประมูลได้ภายในเดือน ต.ค.

ดังนั้น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 4 เส้นทางที่เหลือก็จะใช้ร่างทีโออาร์ของเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพรเป็นต้นแบบ

รมช.คมนาคม กล่าวว่า การปรับปรุงร่างทีโออาร์ใหม่เพื่อเปิดกว้างบริษัทรับเหมาทั้งไทยและต่างประเทศ หรือกลุ่ม consortium ที่เป็นบริษัทไทยกับต่างชาติ โดยผู้เข้าประมูลทั้งหมดจะต้องมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในการสร้างทางรถไฟ โดยเท่าที่ดูจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลมากขึ้นประมาณ 15-20 ราย จากกรอบทีโออาร์เดิมที่ระบุให้ผู้รับเหมาในประเทศเท่านั้น ซึ่งก็จะมีเพียง 6-7 ราย

"เรื่องประมูล เส้นประจวบฯ-ชุมพร เป็นประเด็นเปิดกว้างแค่ไหน ... รฟท.นำเสนอมาแล้ว มีประมาณ 15-20 รายซึ่งส่วนตัวก็เห็นว่าเพียงพอแล้ว คิดว่าเดือนตุลาคมน่าจะเปิดประมูลได้ และทุกเส้นทางที่เหลือก็น่าจะประมูลได้ภายในสิ้นปีนี้"รมช.คมนาคม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ