(เพิ่มเติม) EXIM BANK เปิดบริการใหม่“สินเชื่อส่งออกทันใจ"เสริมสภาพคล่อง SMEs ขับเคลื่อนโค้งสุดท้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 29, 2016 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้พัฒนาบริการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกไทยให้มีเงินทุนหมุนเวียนในช่วงก่อนและหลังการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า สินเชื่อส่งออกทันใจ (EXIM Instant Credit) เพื่อรองรับความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและของขวัญในช่วงเทศกาลตั้งแต่ปลายปีจนถึงต้นปีหน้า เนื่องจากไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ส่งออกไทยจะได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก

บริการสินเชื่อดังกล่าวเป็นสินเชื่อหมุนเวียนระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน พร้อมบริการรับซื้อตั๋วส่งออก อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3.5% ต่อปี ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน อนุมัติเร็วภายใน 7 วันทำการ และมีวงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้มากขึ้น

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า กลุ่ม SMEs เป็นกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเป็นผู้ส่งออก SMEs ประมาณ 24,000 ราย หรือประมาณ 10% ของทั้งหมด แม้ว่าภาคการส่งออกของไทยจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผู้ส่งออกยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก อาทิ การขาดสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น EXIM BANK จึงมีนโยบายพัฒนาบริการที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs ของไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีความพร้อมในการขยายธุรกิจได้มากขึ้น

“ผู้ส่งออก SMEs เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการสินเชื่อ ควบคู่ไปกับเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออก SMEs โดยเน้นความรวดเร็วและความสะดวกในการเข้าถึงบริการของ SMEs โดยสินเชื่อส่งออกทันใจเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้าย" นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า จากที่องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยข้อมูลการค้าโลกในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 1.7% ในขณะที่เศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 2.3% ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่การค้าโลกเติบโตได้ต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาวะการค้าโลกยังไม่สดใสนักในปีนี้

ดังนั้น EXIM BANK ได้วางเป้าหมายในการปล่อย "สินเชื่อส่งออกทันใจ" ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไว้ที่ประมาณ 300 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 100 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 150 ล้านบาท โดยเชื่อว่าการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาในช่วงเวลานี้ จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ให้มากขึ้นได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ในสภาวะที่การค้าโลกในปีนี้ยังเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

"เราได้ออกผลิตภัณฑ์นี้ เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มีเงินทุนหมุนเวียน การขอกู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันมาค้ำ แค่เพียงมีใบ order จากต่างประเทศมาแสดงก็สามารถขอกู้ได้ และยังเป็นการช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะช่วยผู้ประกอบการ 300 ราย ตั้งวงเงินไว้ที่ 150 ล้านบาท" กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ EXIM BANK ได้ตั้งเป้ายอดสินเชื่อปล่อยใหม่ไว้ที่ 18,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ณ สิ้นเดือน ส.ค.สามารถปล่อยได้แล้ว 16,000 ล้านบาท จึงมั่นใจว่าสิ้นปีจะทำได้ตามเป้าอย่างแน่นอน ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นเดือน ส.ค.อยู่ที่ 5.05% โดยตั้งเป้าว่าสิ้นปีจะทำให้ NPL อยู่ที่ไม่เกิน 5%

อย่างไรก็ดี ในปี 60 จะมีการเปิดสำนักงานตัวแทนของ EXIM BANK ในต่างประเทศอีก 3 แห่ง คือ ที่ประเทศลาว, เวียดนาม และกัมพูชา โดยจะเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการของไทยในเรื่องสินเชื่อเพื่อการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก

นายพิศิษฐ์ ยังได้กล่าวในงานสัมมนา "SMEs มั่นใจ ส่งออกต่างประเทศไปกับ EXIM" ว่า อยากให้ผู้ประกอบการมองว่าโอกาสทางการค้ามีอยู่เสมอไม่ว่าเศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือถดถอย โดยโอกาสจะมาพร้อมกับความสามารถในการมองหาตลาด และการรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าในการหาสินค้าที่ออกมาตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

"ธนาคารพร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่เวทีการค้าโลก โดยแนะนำให้มาติดต่อกับทางธนาคารเพื่อขอทราบหลักเกณฑ์การส่งออก กฎระเบียบทางการค้า และกฎหมายด้านภาษีต่างๆ ซึ่งธนาคารจะช่วยสนับสนุนเงินทุนหรือสินเชื่อที่เหมาะสมกับกิจการต่อไป"นายพิศิษฐ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ