รมว.คลัง ลงนามกู้เงินรัฐบาลญี่ปุ่น 5.3 หมื่นลบ.งวดสุดท้ายในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2016 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และ H.E. Mr. Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 3 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวกับ Mr. Hiroo Tanaka หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

ภายใต้ความร่วมมือทางการเงินครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังกู้เงินผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) วงเงิน 166,860 ล้านเยน หรือเทียบเท่าประมาณ 53,479 ล้านบาท สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยเงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนแบบ Preferential Terms มีอัตราดอกเบี้ยสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในอัตรา 0.30% ต่อปี และสำหรับส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และมีค่าธรรมเนียมเงินกู้ (Front-End Fee) 0.20% ของวงเงินกู้ กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ระยะเวลาเบิกจ่ายภายใน 6 ปี เพื่อรองรับการดำเนินโครงการจนเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ ให้สามารถจัดซื้อสินค้าและบริการได้จากทุกประเทศโดยวิธีประกวดราคานานาชาติ

โครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่า จะเปิดให้บริการในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้ประโยชน์จากการเดินรถระบบรถไฟชานเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย สะดวก ทันสมัย ตรงเวลา โดยคาดว่าเมื่อเดินรถระบบรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 300,000 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังจะทำให้สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของโครงการกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นสถานีชุมทางของรถไฟทางไกลสายเหนือ สายอีสาน สายตะวันออก และสายใต้ และเป็นสถานีศูนย์กลางของระบบรถไฟชานเมือง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สีแดงอ่อน และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ รวมถึงรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) ในอนาคต

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2511 จนถึงปัจจุบันมีวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 2,369,468 ล้านเยน ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง และการศึกษา รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์

รมว.คลัง กล่าวว่า การลงนามในสัญญาการกู้เงินครั้งนี้ เป็นการกู้เงินครั้งสุดท้าย ซึ่งหลังจากนี้วงเงินกู้ก็จะครบถ้วน และทำให้เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดงได้ตามแผนที่วางไว้ โดยในส่วนนี้ได้มีการหารือกับ ร.ฟ.ท.แล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อมทุกด้าน และจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผนที่กำหนดไว้

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟสายสีแดงจะเชื่อมโยงกับรถไฟสายเหนือ ตั้งแต่รังสิต และเชื่อมโยงรถไฟสายใต้จากศาลายาเข้ามาบรรจบที่บางซื่อ ซึ่งทั้งเส้นทางสายเหนือและสายใต้มีชุมชนขนาดใหญ่ ประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าโครงการรถไฟสายสีแดงก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นทางเลือกด้านการเดินทางให้ประชาชน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งแล้ว ยังช่วยให้ประเทศประหยัดการใช้พลังงานด้วย ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะก่อนหน้านี้ไทยได้ทำสัญญาลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นจึงทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่าง

"สำหรับเงื่อนไขการกู้เงินในรอบนี้ยังเหมือนเดิม เพียงแต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติม คือ ไจก้าจะให้ความรู้ทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้างในโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนการเบิกจ่ายเงินกู้นี้ จะเบิกจ่ายไปตามผลงาน จะไม่มีเบิกเงินกู้มากองไว้ก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะช่วยควบคุมการใช้เงินไม่ให้นำไปใช้ในส่วนที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งการกู้เงินจากไจก้า ใน 2 รอบแรก ได้เบิกจ่ายไปค่อนข้างมากแล้ว จากทั้งหมดที่กู้ไว้ 3 รอบ" รมว.คลัง กล่าว

อนึ่ง การกู้เงินจากไจก้าในสัญญาที่ 1 วงเงินอยู่ที่ 63,018 ล้านเยน อัตราดอกเบี้ย 1.6% ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ปลอดดอกเบี้ย 7 ปี, สัญญาที่ 2 วงเงินอยู่ที่ 38,203 ล้านเยน อัตราดอกเบี้ย 0.4% ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ปลอดดอกเบี้ย 7 ปี และสัญญาที่ 3 วงเงินอยู่ที่ 166,860 ล้านเยน ระยะเวลาการกู้ 15 ปี ปลอดดอกเบี้ย 5 ปี รวม 3 สัญญา คิดเป็นวงเงินประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ