ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองส่งออกยางล้อ-ถุงมือยางยังเป็นดาวเด่น สวนทางราคายางพาราที่ยังไม่ฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2016 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก แต่การกำหนดราคายังคงต้องอิงไปกับปัจจัยในตลาดโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถานการณ์การอ่อนตัวของราคายางพาราของไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้รับแรงกดดันจากอิทธิพลหลายประการ อาทิ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างจีนที่ชะลอการขยายตัวอันกระทบต่อกำลังซื้อ ปริมาณผลผลิตยางพาราในตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มักแปรผันตามพัฒนาการของเศรษฐกิจหลัก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดทิศทางราคายางพารา ซึ่งการอ่อนค่าของราคายางพาราของไทยในปี 2559 น่าจะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับจากราคาที่เคยสูงสุดในเดือนก.พ.2554 ที่ 190.3 บาทต่อกิโลกรัม

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาส่งออกยางพาราของไทย (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) ในปี 59 อาจอยู่ที่ 53.0 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 2.2% (YoY) เทียบกับปี 58 ที่ 54.2 บาทต่อกิโลกรัม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนที่ยังเติบโตชะลอลง ประกอบกับอุปทานยางพาราที่ยังอยู่ในระดับสูง (แม้ว่าไทยจะมีมาตรการโค่นต้นยางจากภาครัฐ) อีกทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 ราคาส่งออกยางพาราของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 54.7 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 5.8% (YoY)

สำหรับในปี 60 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มราคาส่งออกยางพาราของไทย อาจให้ภาพที่กระเตื้องขึ้นได้บ้าง แต่ในภาพรวมก็นับว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งราคาอาจไม่กลับไปสูงดังเช่นในอดีต โดยคาดว่า ในปี 60 ราคาส่งออกยางพาราอาจอยู่ที่ราว 54-57 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 2.0-7.5% (YoY) เป็นผลเนื่องมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในตลาดโลกที่คาดว่า อาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ราว 48 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ปี 59 คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 40.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ขณะที่อุปสงค์ยางพาราจากจีนน่าจะยังมีไม่มากนัก และสต๊อกยางของจีน ผนวกกับอุปทานยางในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ราคาส่งออกยางพาราของไทยขยับขึ้นได้ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มราคายางพาราของไทยจะให้ภาพที่ไม่สดใสนัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แต่หากมองในมุมของผู้ประกอบการปลายน้ำที่นำยางพารามาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตสินค้า ก็นับว่าเป็นช่วงจังหวะเวลาดีที่ผู้ประกอบการจะได้รับอานิสงส์จากราคายางพาราที่อยู่ในระดับต่ำ อันเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต และอาจช่วยให้ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสูง มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จึงทำให้ราคาขายของสินค้าไม่ลดลงตามราคาวัตถุดิบยางพารา

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยางพาราส่งออกดาวเด่นของไทยประเภทยางล้อรถยนต์ และถุงมือยาง ที่มีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลต่อความต้องการในสินค้าดังกล่าว โดยยางล้อรถยนต์ นับเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราดาวเด่นของไทย ที่สร้างมูลค่าส่งออกเฉลี่ยเกือบสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากความได้เปรียบที่ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบยางขนาดใหญ่ (ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง) แรงงานมีทักษะที่ดี ประกอบกับความไว้วางใจของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และไทยยังเป็นฐานการผลิตยางล้อที่สำคัญให้กับบริษัทยางล้อข้ามชาติชั้นนำของโลกที่มีความพร้อมด้านเงินทุน และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ไทยได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางล้ออย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพยางล้อที่ดี และความน่าเชื่อถือในตราสินค้าจากประเทศไทย (Made in Thailand) ที่ต่างชาติยอมรับ ทำให้ตลาดโลกยังมีความต้องการในยางล้อไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา จึงนับว่าไทยมีโอกาสทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางล้อที่ดี

เห็นได้จาก ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 มูลค่าการส่งออกยางล้อของไทยอยู่ที่ 1,392 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 10.4% (YoY) โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีการขยายตัวกว่า 45.3% (YoY) เพื่อใช้ทั้งในตลาดยางล้อใหม่ และยางล้อทดแทน อันสอดคล้องกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2558 สหรัฐอเมริกามียอดขายรถยนต์สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ 17.5 ล้านคัน หรือขยายตัว 5.7% (YoY) (ซึ่งคิดเป็น 19.5% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก) รองจากจีนที่มียอดขายรถยนต์อยู่ที่ 24.6 ล้านคัน จึงนับเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการส่งออกยางล้อของไทยไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา

ขณะที่เมื่อพิจารณาจากตัวเลขที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางล้อจากประเทศต่างๆ พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 สหรัฐอเมริกานำเข้ายางล้อจากไทยในอัตราที่ขยายตัวถึง 25.4% (YoY) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่หดตัวอย่างเกาหลีใต้ และจีน อันสะท้อนถึงความนิยมในการใช้ยางล้อของไทยในสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ไทยควรชูกลยุทธ์การแข่งขันด้านคุณภาพที่ไทยมีความได้เปรียบ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดสหรัฐอเมริกาในระยะข้างหน้า

สำหรับคู่แข่งยางล้อของไทย ยังคงต้องจับตาคู่แข่งสำคัญอย่างจีน ที่เป็นผู้ส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของโลก (13.2%) และยังเป็นคู่แข่งยางล้อของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยางล้อของจีนเป็นบริษัทผลิตยางล้อของจีนเองเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ อนึ่ง ในปี 2558 สหรัฐอเมริกามีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดยางล้อของจีน โดยการขึ้นภาษีนำเข้า 30-40% เนื่องจากราคาขายยางล้อของจีนต่ำกว่าราคาในสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาลดการนำเข้าต่อเนื่องมาในปี 59 นับเป็นโอกาสของไทยในการทำตลาดยางล้อในสหรัฐอเมริกาด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกยางล้อรถยนต์ของไทยในปี 59 ต่อเนื่องจนถึงปี 60 น่าจะให้ภาพที่สดใส ตามอุตสาหกรรมรถยนต์โลก โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จากทิศทางราคายางธรรมชาติที่มีความผันผวนมากกว่ายางสังเคราะห์ อาจส่งผลต่อการปรับสูตรของผู้ผลิตยางล้อ โดยสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติจะแตกต่างกันในยางล้อรถยนต์ประเภทต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตยางล้อเครื่องบินชั้นนำของโลก ยังมีแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยางล้อเครื่องบินประเภทเรเดียลในไทย โดยจะเริ่มดำเนินการในระยะแรกจากทั้งหมดสามระยะ ภายในปี 61 เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชีย สนองตอบความต้องการของแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบิน ซึ่งเครื่องบินพาณิชย์มีการปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นยางแบบเรเดียล (Radial Tire) แทนยางแบบธรรมดา (Bias Tire) จึงนับว่ายางล้อเครื่องบิน เป็นผลิตภัณฑ์ยางอีกตัวที่กำลังน่าจับตามอง

ส่งนถุงมือยาง นับเป็นผลิตภัณฑ์ยางส่งออกอันดับ 2 ของไทย (รองจากยางล้อ) ที่สร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยราวปีละหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ และถุงมือที่ใช้ในครัวเรือน และในภาคอุตสาหกรรม จากความตื่นตัวในการป้องกันโรคระบาด และเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยกดดันด้านคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซีย ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 มูลค่าการส่งออกถุงมือยางของไทยอยู่ที่ 622 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว 5.0% (YoY) เนื่องจากมาเลเซียมีบทบาทมากขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติมีมากขึ้น ทำให้มีการใช้ถุงมือที่ผลิตจากยางสังเคราะห์มากขึ้น ประกอบกับราคายางสังเคราะห์ยังถูกกว่ายางธรรมชาติและผันผวนน้อยกว่า กระนั้น แม้ว่าภาพรวมตลาดส่งออกถุงมือยางของไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่หากพิจารณาในรายสินค้าอย่างถุงมือยางทางการแพทย์ ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยมูลค่าส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์ของไทยขยายตัวเฉลี่ยในปี 53-58 อยู่ที่ 3.0% ต่อปี และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 มูลค่าขยายตัว 12.0% ซึ่งเป็นผลจากปริมาณที่ขยายตัว 13.9% (YoY) โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัวถึง 17.0% (YoY)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ว่าการส่งออกถุงมือยางของไทยในปี 59 จนถึงปี 60 น่าจะให้ภาพที่ไม่สดใสนัก จากปัจจัยด้านคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซีย แต่หากพิจารณาในรายสินค้า พบว่า ถุงมือยางทางการแพทย์ยังมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี ตามความต้องการใช้ถุงมือเพื่อสุขอนามัยที่ดี และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจการแพทย์ทั่วโลกที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ การรักษาคุณภาพน้ำยางในระดับต้นน้ำของไทยอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อการแปรรูปเพื่อทำผลิตภัณฑ์ยาง อันจะช่วยเอื้อกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพารา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเจาะตลาดส่งออกศักยภาพ อีกทั้งการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นการรองรับอุตสาหกรรมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตยางครบวงจร ก็อาจช่วยให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนการส่งออกยางพาราขั้นต้นของไทย อาจให้ภาพที่ทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางภาครัฐที่วางไว้ในอนาคต

"หากมองในมุมของผู้ประกอบการปลายน้ำที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิต ก็นับว่าเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ดีที่ผู้ประกอบการจะได้รับอานิสงส์จากราคายางพาราที่อยู่ในระดับต่ำ อันเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต และอาจช่วยส่งผลดีต่อผลการดำเนินงาน โดยผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปดาวเด่นของไทยคือ ยางล้อรถยนต์ ที่นับว่ามีแนวโน้มการส่งออกที่ดีตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก และถุงมือยางทางการแพทย์ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพ และการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาล" เอกสารศูนย์วิจัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ