(เพิ่มเติม1) ธ.โลก คาด GDP ไทยปีนี้โต 3.1% การบริโภคยังหนุน,มองการเมือง-ศก.จีนเป็นความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2016 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลก เปิดตัวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 59 น่าจะเติบโตได้ราว 3.1% ดีขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้ 2.5% โดยเชื่อว่าการบริโภคยังมีส่วนช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป แม้จะยังอยู่ในระดับปานกลาง

"การที่เราปรับ GDP ในปีนี้เป็น 3.1% ดีขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 2.5% เหตุผลหลักมาจากไตรมาส 1 และ 2 เศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างดีจากภาคการท่องเที่ยวและมาตรการการคลังที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ"นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าว

ขณะที่การลงทุนจากภาคเอกชนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกลดลงและความไม่แน่นอนทางการเมือง ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ ๆ ในปีต่อไปเนื่องจากการนำเข้าฟื้นตัว และยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ขาดเสถียรภาพทางการเงิน นำมาซึ่งบรรษัทที่มีหนี้สินสูงอาจจะผิดนัดชำระหนี้และส่งผลกระทบกับไทยในเรื่องการค้าและช่องทางการไหลเวียนของเงินทุน เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปจีนถึง 12% จากยอดการส่งออกทั้งหมด และเงินลงทุนจากจีน คิดเป็น 8%ของเงินทุนไหลเข้าจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ส่วนยอดขายรถยนต์และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 59 นั้น คาดว่าจะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นด้านการคลัง แม้คาดว่าจะชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน เนื่องจากความท้าทายในการดำเนินงานตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ การดำเนินโครงการก่อสร้างพื้นฐานของรัฐตามที่ได้วางแผนไว้ (รถไฟรางคู่และการปรับปรุงระบบราง) ในปี 59 และปี 60 นั้นจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่าปีนี้การส่งออกของไทยเมื่อรวมกับภาคบริการแล้วจะเติบโตได้ 0.4% ซึ่งหากหักภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยวไปแล้ว การส่งออกในปีนี้ก็มีโอกาสจะต่ำกว่า 0% โดยธนาคารโลกจะมีการประกาศตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งในการแถลงช่วงเดือน พ.ย. ขณะที่การนำเข้าปีนี้ คาดว่าจะหดตัว -0.5% อัตราเงินเฟ้อที่ 0.5% หนี้สาธารณะอยู่ที่ 46.3% ต่อ GDP การบริโภคภาคเอกชน โต 2.3% การบริโภคภาครัฐ โต 3.6%

ธนาคารโลกยังมองถึงความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า ประเด็นเศรษฐกิจจีนที่ขาดเสถียรภาพด้านการเงินที่อาจนำมาซึ่งบรรษัทที่มีหนี้สินสูงอาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้และส่งผลกระทบกับไทยในเรื่องการค้าและช่องทางการไหลเวียนของเงินทุน เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 12% จากยอดการส่งออกทั้งหมด และเงินทุนจากจีนคิดเป็น 8% ของเงินทุนไหลเข้าจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยมีความหลากหลายในเรื่องสินค้าและตลาดเป็นอย่างดี นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมกันชนเพื่อรับมือด้านการเงินและการคลังไว้แล้วอย่างดี อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความยืดหยุ่นสามารถเป็นกันชนจากความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศได้

ส่วนความเสี่ยงอีกประการ คือเรื่องเสถียรภาพการเมือง หากประชาชนไม่พอใจกับการเดินหน้าปฏิรูปการเมืองหรือเลื่อนการปฏิรูปออกไป ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐถูกเลื่อนออกไปและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ดี ผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและการที่รัฐบาลได้ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะจัดการเลือกตั้งในปี 2560 ได้ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ลงไปได้

"ตอนนี้นโยบายการคลังเป็นหลักสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่หากเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองขึ้นอีก ก็จะทำให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว ซึ่งพบว่าในช่วง 10 ปีย้อนหลัง การลงทุนใหญ่ๆ ไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะมีความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างเยอะ และหากสภาพนั้นกลับมาอีก การลงทุนภาครัฐอาจจะชะลอลง และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวได้มากกว่านี้" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าว

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ฟื้นตัวในทุก sector ของภาคเศรษฐกิจ ซึ่งการประเมินไว้ที่ 3.1% ไม่ถือว่าต่ำไป เพราะหากเทียบกับประมาณการเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังแล้ว ก็จะถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ

ขณะที่ในปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.1% ใกล้เคียงกับในปีนี้ ส่วนปี 61 จะเติบโตได้ 3.3% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในบาง sector เช่น การบริโภค, การท่องเที่ยว, การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาครัฐ ส่วน sector ที่ยังไม่มีการฟื้นตัวที่ชัดเจน เช่น การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

"World Bank มองว่าศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังมากกว่านี้ อย่างน้อยควรอยู่ที่ 3.5% ซึ่งถ้ามองในปี 61 เราก็จะเริ่มขยับเข้าไปใกล้จุดนั้น เพราะเศรษฐกิจไทยในอดีตช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ประมาณ 5% ดังนั้นหากเราสามารถปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ได้สำเร็จ ดำเนินการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในแผน เราก็มองว่าศักยภาพการเติบโตน่าจะสูงกว่า 3.5% อาจจะอยู่ที่ 4-5% ด้วยซ้ำ" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ จะมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยหรือไม่นั้น นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้นจะอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาในเรื่องเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นไปได้ที่ กนง.อาจจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

ด้านนายชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวถึงผลกระทบจากกรณีที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ที่มีต่อไทยว่า เชื่อว่าผลกระทบต่อประเทศไทยจะมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากไทยและอังกฤษมีสัดส่วนการค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยตรงไม่มากนัก

แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากจากกรณี Brexit น่าจะเป็นประเทศฟิจิ เนื่องจากแต่ละปีฟิจิทำการค้ากับอังกฤษในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการส่งออกน้ำตาลไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ยังเป็นเพียงการวิเคราะห์สถานการณ์ในเบื้องต้นเท่านั้น คงจะต้องรอติดตามผลที่ชัดเจนหลังจากที่กระบวนการ Brexit จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในช่วง มี.ค.60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ