(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย.อยู่ที่ 74.2 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 6, 2016 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ย.59 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคใน อยู่ที่ 74.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ก.ย.อยู่ที่ 63.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 68.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.7

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แม้ประชาชนจะมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วม

สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ การส่งออกในเดือน ส.ค.59 ขยายตัว 6.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน, กนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.50% ขณะเดียวกันปรับเพิ่ม GDP ปี 59 ใหม่เป็น 3.2% จาก 3.1%, ครม.คง Vat 7% ต่อไปอีก 1 ปี, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย, ปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ขณะที่ประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคกังวลปัญหารค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, กังวลปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เพราะความหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ของปีนี้เป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

“คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่เด่นชัดมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนที่ผ่านมาซึ่งพบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 10 กว่าจังหวัด ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์น้ำท่วมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ดังนั้นสถานการณ์น้ำท่วมในรอบนี้จึงไม่ส่งผลกระทบรุนแรงในภาพรวม และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะมีมูลค่าความเสียหายในภาพรวมราว 6-7 พันล้านบาท กระทบต่อ GDP ไม่เกิน 0.05% เท่านั้น

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ยังพบว่าในเดือน ก.ย.นี้ ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 100.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจเมื่อเดือน พ.ค.49 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ที่ดัชนีอยู่ระดับสูงเกินกว่า 100 หลังจากที่ครั้งแรกในเดือน ธ.ค.57 ที่ดัชนีเคยปรับตัวไปอยู่ที่ระดับ 100.1 โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับที่ดีและมีเสถียรภาพ พร้อมกับคาดหวังว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังมีเสถียรภาพเช่นกัน

ขณะเดียวกันความเห็นจากภาคเอกชนยังมองว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น การซื้อรถยนต์ การซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามมา การส่งออกในเดือนส.ค.ของไทย สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ถึง 6.5% และที่สำคัญความกังวลต่างๆ จากสถานการณ์โลก เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก, กรณีอังกฤษแยกตัวจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) รวมทั้งความกังวลเรื่องการจ้างงานได้คลี่คลายลง ในภาพรวมเหล่านี้จึงทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และคาดหวังว่าในอนาคตสถานการณ์จะดีขึ้น แม้ประชาชนจะยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าก็ตาม ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.3-3.5% ขณะที่ในปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเติบโตได้ 3.5-4.0%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) หรือ ACD Summit 2016 ซึ่งจะจัดขึ้นในประเทศไทยในระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค. ซึ่งจะมีระดับสุดยอดผู้นำและนักธุรกิจเข้ามาร่วมประชุมนั้น เวทีนี้จะทำให้ต่างชาติได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น และเห็นบรรยากาศที่ดีของไทย เป็นตัวช่วยจุดประกายให้ไทยมีโอกาสที่ดีในเรื่องการท่องเที่ยวที่น่าจะสดใสขึ้นในช่วงไตรมาส 4

และที่สำคัญไทยยังมีโอกาสใช้เวทีนี้ประชาสัมพันธ์ว่าไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง และแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้ Thailand 4.0 การประชุม ACD Summit เป็นเวทีในการหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และหามาตรการหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการรวมตัวในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ