"สมคิด" มุ่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งภูมิภาค เดินหน้ายกระดับความสามารถแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2016 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาในงาน "Sino-Thai Business Investment Forum 2016" โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยและยังไร้วี่แววแห่งการฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าจะฟื้นตัวเมื่อไรและจะฟื้นตัวอย่างไร และหากเราดูจากตัวเลขการเติบโตของสหรัฐตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้ ถดถอยลงมาอยู่ที่ระดับ 1% ในขณะนี้ ฉะนั้นในระยะสั้นคงยากที่จะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากประเทศนี้ หากไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกัน Brexit กำลังทำให้ความเชื่อมั่นต่อ EU สั่นคลอนซ้ำเติมเศรษฐกิจยุโรปซึ่งอ่อนแอและเปราะบางอยู่แล้วให้ด้อยลงในศักยภาพแห่งอนาคต ตะวันออกกลางยังคงประสบกับความวุ่นวายทางการเมืองเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอและเผชิญกับอนาคตที่น่าเป็นห่วงจากราคาน้ำมันที่ยังไม่กระเตื้อง มองดูแล้วในอนาคตเศรษฐกิจโลกน่าจะสลดหดหู่ยิ่งนัก

"เราพูดกันมาตั้งแต่ก้าวสู่ศตวรรษใหม่แล้วว่า เป็นศตวรรษแห่ง Asia แต่ก็ยังไร้วี่แววที่ชัดเจน จะมีแต่จีนเท่านั้นที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วและโดดเด่น แต่ในขณะนี้โลกได้เชื่อมั่นแล้วว่าโอกาสของเอเชียกำลังจะมาถึง Asia กำลังจะผงาด แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงแต่ก็ยังเต็มไปด้วยพลัง" นายสมคิด กล่าว

พร้อมระบุว่า ในภาวะที่โลกตะวันตกดูจะหมองหม่น กลับทำให้ตะวันออกสดใสและเป็นความหวังใหม่ที่จะฉุดโลกให้พลิกฟื้น กระทั่งมีการนำเสนอ แนวคิดเขตการค้าเสรี TPP โดยสหรัฐ ที่เชื่อมโยงกลุ่มประเทศใน Asia Pacific และการผลักดันแนวคิดเขตการค้าเสรี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ในที่ประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 12 ที่พนมเปญ ที่มุ่งมั่นเชื่อมโยงการค้าเสรีระหว่างชาติใน ASEAN กับอีก 6 ประเทศ ใหญ่ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่รวมกันแล้วครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งของโลกและกว่า 30% ของผลผลิตโลกรวมกัน ก็ยิ่งทำให้เอเชียอันประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ที่เปี่ยมไปด้วยจุดแข็งอันหลากหลายกลับมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งอนาคต

"ภายใต้ศักยภาพอันยิ่งใหญ่ และภายใต้ความเชื่อมโยงอันหลากหลายของเอเชีย อนุภูมิภาค ASEAN คือ องค์ประกอบอันสำคัญ เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบที่สมบูรณ์ แหล่งแรงงานอันอุดม Supply Chain ที่ครบวงจรเศรษฐกิจทั้งอนุภูมิภาคเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา ด้วย GDP มวลรวมมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งมองออกไปในอนาคต ศักยภาพแห่งอาเซียนนี้จะยิ่งเพิ่มทวี" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศไทยโดยธรรมชาติของทำเลที่ตั้งแล้ว ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า คือ ศูนย์กลางแห่งอาเซียนที่แท้จริง แต่ประเทศไทยไม่ได้พอใจเพียงเช่นนั้น เรามุ่งมั่นที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งภูมิภาค สามารถเป็น Gateway หรือ ประตูเปิดเข้าสู่ภูมิภาคและเป็นประตูออกของการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคสู่โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภูมิภาค CLMV

ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจจะโชคไม่ดีนักที่การเมืองในประเทศมีความผันผวนและซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับความถดถอยของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารจัดการประเทศจนถึงขณะนี้ ครบ 2 ปีแล้ว สถานการณ์ของประเทศได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ บ้านเมืองสงบ การเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก้าวเดินไปข้างหน้า การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น การท่องเที่ยวเติบโตเป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบสามสิบล้านคนในปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศเติบโตโดยลำดับ สวนแนวโน้มโลกจาก 0.8% เมื่อ 2 ปีก่อน เป็น 2.8% ในปีที่แล้ว และเพิ่มเป็น 3.2% และ 3.5% ในสองไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีจะอยู่ในช่วง 3.2 – 3.5% ต่อปี

อย่างไรก็ดี รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเพื่อหวังผลในระยะยาวมากกว่าการเติบโตในระยะสั้น จึงให้ความสำคัญกับการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวและการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจที่เริ่มเผชิญความท้าทายจากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การแก้ไขความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลโดยตรงต่ออำนาจซื้อในประเทศ และการลดความขัดแย้งในสังคม ตลอดสองปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร ในขณะเดียวกันก็เร่งสร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจฐานรากในชนบท สองปีที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มงบประมาณนับแสนล้านเพื่อการนี้ ทั้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การแปรรูปผลผลิต การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในชนบทรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เข้าถึงแหล่งชนชนในท้องถิ่น

นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการยกระดับความสามารถแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การปฏิรูปโครงสร้างภาคการผลผลิตของประเทศ ด้านหนึ่งโดยเน้นการสร้างมูลค่าและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มาตรการส่งเสริมการลงทุนได้ปรับเปลี่ยนให้สิทธิภาษีจูงใจสูงขึ้นกับการลงทุนที่เน้นการใช้เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา ในอีกด้านหนึ่งมุ่งพัฒนา อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

2.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งถนน motorway รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงเหนือสู่ใต้ และตะวันออกสู่ตะวันตก สนามบิน ท่าเรือ มูลค่ารวมการลงทุนใน 5 ปี ข้างหน้ากว่า 43 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการต่างๆ เหล่านี้ทยอยผ่าน ครม. ทยอยเรียกประกวดราคาตั้งแต่ไตรมาสนี้และปีหน้า โดยปีหน้าจะเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ซึ่งหลายโครงการจะใช้ระบบ PPP เปิดโอกาสให้ทั้งภาคเอกชนไทยและต่างประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วม ผมขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกับเรา

3.โครงการลงทุนในส่วนที่สามซึ่งผมคิดว่าสำคัญที่สุด ได้แก่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor หรือ EEC

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถมีระดับพัฒนาอุตสาหกรรมมาถึงขั้นนี้ และเป็นจุดลงทุนที่สำคัญ ก็เพราะการลงทุนใน Eastern Seaboard โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดจนกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดและเป็น Port ส่งออกสู่โลกของไทย โครงการ EEC คือโครงการต่อยอด ยกระดับและขยายเขตการลงทุนครอบคลุมถึง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทราและระยอง รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยการมีกฎหมายรองรับและมีคณะกรรมการกำกับดูแล โดยเฉพาะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เป็นแหล่งลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต โดยมีการตระเตรียมพื้นที่สำหรับนักลงทุนจากภาคเอกชนและรัฐ

พร้อมๆ กันนั้นได้ขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองและสร้างสนามบินพาณิชย์ใหม่ สนามบินอู่ตะเภาเดิม โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ให้เป็น Transshipment Port สำหรับการขนส่งเข้าและออกของอนุภูมิภาค CLMV โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดที่อู่ตะเภาให้เป็นท่าเรือพาณิชย์ในอนาคต พร้อมกันนั้น จัดให้มีโครงการลงทุนเชื่อมโยงกรุงเทพ - แหลมฉบัง - อู่ตะเภา ด้วยการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่และเส้นทางถนนเชื่อมโยงพื้นที่ดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นทั้งแหล่งที่ตั้งโรงงานผลิต ศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ และการพัฒนาการท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์ในบริเวณสามจังหวัดดังกล่าว โครงการเหล่านี้จะทยอยเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

"การขับเคลื่อนโครงการลงทุนเหล่านี้ BOI ได้กำหนดมาตรการจูงใจสำหรับนักลงทุนเป็นการเฉพาะ กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งกองทุน Infrastructure Fund เพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน กระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการได้รับการมอบหมายให้เร่งพัฒนาบุคคลากรในทักษะที่เหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต พร้อมกันนั้นรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการขจัดอุปสรรคของนักลงทุน โดยร่วมมือกับ World Bank ในโครงการ Ease of Doing Business เพื่อลดขั้นตอน ขจัดอุปสรรค เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งตัวผมเข้าไปขับเคลื่อนด้วยตัวเอง" นายสมคิด กล่าว

พร้อมระบุว่า ในอนาคตมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - จีน แผ่ขยายครอบคลุมสู่ด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนอย่างกว้างขวางลึกซึ้งและแน่นแฟ้นกว่าทุกยุคทุกสมัย โดยในการประชุมร่วมของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ สาระสำคัญจะอยู่ที่ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรทั้งในเชิงของรัฐและเอกชนในการพัฒนา Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย พันธมิตรในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับเส้นทาง One Belt One Road ของจีน และพันธมิตรในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"ผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับเรา และผมในฐานะรองนายกเศรษฐกิจ จะช่วยดูแลท่านทั้งหลายให้ได้รับความสะดวกและความเป็นธรรมในทุกๆ มิติ" นายสมคิด กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ