สถาบันพลาสติก จัดทำยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (59-64)เหลือวางเป้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2016 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถาบันพลาสติกได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ปี 2559-2564 เพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากทั่วโลกและสอดรับกับแผนดำเนินงานของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายที่ต้องการทรานฟอร์เมชั่นผู้ประกอบการไทยทั้งภาคการผลิตและการตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น

สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทย จะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันผ่านการปรับโครงสร้างด้านการผลิตและการตลาด ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพลาสติกเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด พร้อมกระจายฐานการผลิตพลาสติกไปยังภูมิภาคต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ง่ายต่อการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ

2. ยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อหน่วยให้สูงขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมงานด้านองค์ความรู้ งานวิจัยและความคิดสร้างสรรค์เพื่อออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งสถาบันพร้อมเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ๆ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตพลาสติกที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเน้นสินค้า 3 กลุ่มที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า (Product Champions) ของภาคอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกฟังก์ชันนอลสำหรับอาหาร กลุ่มวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และกลุ่มพลาสติกชีวภาพ

และยุทธศาสตร์ที่ 3 มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมรองรับการตื่นตัวในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบจากปัจจัยความพร้อมด้านวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้

“ทุกวันนี้ผู้ประกอบการพลาสติกของไทย ยังมีจุดอ่อนที่ขาดการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ดีพอ เราจึงต้องเร่งสร้างความตระหนักแก่กลุ่มผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาคุณภาพผลผลิตผ่านการออกแบบดีไซน์ การพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อทรานฟอร์เมชั่นผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่อไป ซึ่งเราเชื่อว่า ด้วยการวางยุทธศาสตร์ที่มีแผนดำเนินการที่ชัดเจนต่อจากนี้ มั่นใจว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกในอาเซียนได้อย่างยั่งยืนหรือ Asean Plastics Growth Driver” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลาสติกถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นน้ำเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบในภาคการผลิตต่างๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น ซึ่งแต่ละปีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมพลาสติกสูงถึง 9.2 แสนล้านบาทต่อปีและยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยเพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น หลังพบว่า ผู้ประกอบการพลาสติกของไทยกว่าร้อยละ 80 ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้สถาบันพลาสติกในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการพลาสติกไทย โดยใช้งานวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ของกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก เพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สนับสนุนด้านการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ