คมนาคม ชงรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางกว่า 5.5 หมื่นลบ.เสนอครม.ใน ต.ค.,โปรตุเกสสนใจลงทุนเมกะโปรเจ็คต์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 13, 2016 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้ จะนำเสนอ โครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาทช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,036.53 ล้านบาท, และช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 10,301.95 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้

ขณะที่ วันนี้ H.E.Mr.Jorge Manuel Faeia da Costa Oliveira รมช.ต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกสเข้าพบและแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม และต้องการนำนักธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะหารือถึงการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) และการเชิญประเทศไทยไปโรดโชว์ที่โปรตุเกส ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการท่องเที่ยวฯต่อไป

ทั้งนี้ โปรตุเกสมีประชากรเพียง 10 ล้านคนแต่มีกำลังซื้อสูง และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องงานก่อสร้างที่ใช้เทคโนโลยีสูง เข่น คานคอนกรีตขนาดใหญ่ อุโมงค์คอนกรีตขนาดใหญ่ ซึ่งโปรตุเกสเห็นว่าไทยมีแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ในแผนปี 59 มี 20 โครงการและในแผนปี 60 จะมีอีกประมาณ 20 โครงการ จึงให้ความสนใจมาก

“นอกจากนี้ โปรตุเกสยังมีความเชี่ยวชาญด้านไอที เช่น เทคโนโลยีระบุตัวตนด้วยใบหน้า ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์คมนาคม ขนส่งระยะ 20 ปี จะเน้นเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยในการขนส่ง ตั้งแต่ในช่วง 5 ปีแรก จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น ระบบ CCTV หรือการจับความเร็วรถเพื่อความปลอดภัย"นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม.กรอบวงเงินโครงการ 179,412.21 ล้านบาท ขณะนี้ เตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอยู่ในขั้นตอนการให้ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ส่วนการถอดแบบก่อสร้าง รหัสวัสดุจากจีนมาเป็นของไทยนั้น ยังไม่เสร็จ ซึ่งทำให้ยังกำหนดราคากลางในการประมูล ตอนที่ 1 (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ระยะทาง 3.5 กม. ไม่ได้ ซึ่งจะพยายามเร่งรัดจีน ขณะที่ร่างสัญญาที่เป็นสัญญาสากล ใช้ตามกฎหมายไทยนั้น ยังเจรจากันอยู่ โดยยังเป็นกฎหมายจีนมากกว่า ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยอมรับ เช่น กรณีล่าช้า หรือการยึดทรัพย์สิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่จะเริ่มต้นโครงการปลายปี 59 ตามที่ผู้นำ 2 ประเทศได้หารือกัน ยังไม่เปลี่ยแปลง ซึ่งคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน จะประชุมครั้งที่ 15 ในช่วงวันที่ 26 ต.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ