คมนาคม เลื่อนเปิดใช้ตั๋วร่วมไปกลางปี 60 เตรียมชง ครม.ตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2016 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม คาดจะสามารถเปิดให้บริการตั๋วร่วมระบบขนส่งมวลชน (ตั๋วแมงมุม) ได้ในกลางปี 60 จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดบริการได้ช่วงต้นปี 60 โดยระยะแรกจะมีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ หลังจากทางด่วนและมอเตอร์เวย์ที่ใช้ตั๋วร่วมนำร่องไปก่อนแล้วในวันนี้

ทั้งนี้ ระยะเริ่มต้นจะมี 3 หน่วยงานเป็นผู้บริหารจัดการตั๋วร่วม คือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมทั้งศูนย์เคลียริ่งเฮ้าส์ เพื่อเข้ามาบริหารในระยะแรก

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการจัดตั้งบริษัทที่จะเข้าบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company : CTC) และจะเปิดให้เอกชนผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนเข้ามาร่วมทุนในบริษัทนี้ โดยเปิดประมูลแบบ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2556 อีกทั้งต้องมีการร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อกำหนดราคาตั๋วร่วม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมแรกเริ่ม การคำนวณอัตราค่าโดยสาร (common fair)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า จะมีการจัดตั้งบริษัท Common Ticket Company (CTC) เพื่อให้ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนเข้ามาถือหุ้น ได้แก่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส, บริษัทย่อยของ บมจ.บีทีเอส โฮลดิ้งส์ (BTS) ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา โดยบีทีเอสได้ลงทุนระบบตั๋วแรบบิทแล้ว เกรงจะกระทบกับยอดผู้ใช้แรบบิท, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สนข.ได้จัดทำร่างทีโออาร์เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารกิจการของรัฐ ในรูปแบบ PPP เพื่อให้เข้ามาบริหารจัดการตั๋วร่วมต่อไปในอนาคต แต่ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลานาน เพราะต้องส่งทีโออาร์ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาก่อน

ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผุ้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารเข้ามาช่วยวางระบบ settlement รวมทั้งบริหารจัดการตั๋วแมงมุมในระยะแรก และจากนั้นจึงจะเปิดให้เอกชนเข้ามาโดยเปิดประมูลรูปแบบ PPP โดยคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน หรือประมาณสิ้นปี 60 จึงน่าจะได้ผู้เข้ามาบริหาร

ทั้งนี้ นอกจากตั๋วแมงมุมที่จะช่วยทำให้การเดินทางระบบขนส่งสาธารณะได้รับความสะดวกมากขึ้นแล้ว ยังใช้เพื่อเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ โดยหากประชาชนที่มีรายได้น้อยนั้น รัฐจะจ่ายค่าเดินทางผ่านเข้าตั๋วแมงมุม หรือการให้สวัสดิการกับผู้ที่มีรายได้น้อยผ่านตั๋วแมงมุมเพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้า ซึ่งกระทรวงการคลังได้ประสานกับกระทรวงคมนาคมเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยผู้ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มของ KTB สามารถมาเปลี่ยนเป็นตั๋วแมงมุมได้ โดยยังคงสามารถใช้เป็นเป็นบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิตได้ ส่วนระยะต่อไปจะเปิดให้ธนาคารพาณิชย์รายอื่นเข้ามาเป็นผู้ให้บริการเหมือน KTB ได้

นายทรงพล กล่าวว่า ในปี 59 รายได้จากค่าธรรมเนียมของ KTB ขยายตัว 20% ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และตั้งเป้าใน 3 ปีนี้ (60-63) จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตปีละ 20% และจะมีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 20% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 12% ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดในช่วง 3 ปีนี้ KTB จะเพิ่มเป็นเกือบ 30% จากที่มีอยู่ 20% ต้นๆ โดยธนาคารได้ขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่ 20 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด โดยจะเน้นขยายฐานลูกค้าในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นด้วยการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากลูกค้าในกรุงเทพฯ กว่า 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ