CIMBT แนะไทยผลักดันความร่วมมือทางการค้าในกลุ่ม RCEP หลังเชื่อผู้ท้าชิงปธน.สหรัฐฯ ทั้งคู่ไม่ต้องการ TPP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 8, 2016 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยถึงผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ต่ออาเซียนและไทยว่า สำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนเห็นด้วยกับการสร้างงานให้มากขึ้นโดยการหาวิธีลดการนำเข้าหรือไม่ก็เจรจาข้อตกลงโดยเฉพาะ TPP (Trans – Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิกกันใหม่ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่า รายงานการจ้างงานของสหรัฐฯ ดูย่ำแย่ ขณะที่คนอเมริกันจำนวนมากสูญเสียงานให้กับจีนและเวียดนาม ส่วนนางฮิลลารี คลินตัน ระบุว่า การทุ่มตลาดเหล็กของจีนก่อให้เกิดการปิดตัวลงของอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯ

“ผมคาดการณ์ในเรื่องนี้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะจีนซึ่งอาจจะรวมทั้งการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าหรือตั้งกำแพงทางการค้าที่มิใช่ภาษี แต่ในที่สุดอาจเป็นผลลบต่อสหรัฐฯเอง ถามว่าทำไม ก็เพราะสหรัฐฯพึ่งพาสินค้าและวัตถุดิบจากจีนมากโดย 1 ใน 5 หรือ 20% ของการนำเข้าของสหรัฐฯมาจากจีน ขณะที่สหรัฐมีสัดส่วนการนำเข้าจากอาเซียน 7.3% โดยในอาเซียนนั้น เวียดนามมีส่วนแบ่งการนำเข้าจากสหรัฐฯมากที่สุดประมาณ 1.9% ตามด้วยมาเลเซียและไทย ขณะที่ผลิตภาพของแรงงานสหรัฐก็ไม่สูงพอที่จะชดเชยการผลิตจากภายนอกประเทศด้วยต้นทุนต่ำ ดังนั้นถ้าสหรัฐขึ้นราคาสินค้านำเข้าถามว่า จะไม่ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของสหรัฐฯสูงขึ้นเลยหรือ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ผมคิดว่าการส่งออกของอาเซียนคงจะหดตัวลงในปีหน้า ทั้งที่ส่งออกไปยังจีนและระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง” ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของการรวมกลุ่ม TPP กำลังจะช่วยสลายจุดอ่อนของไทย จากการที่ผู้ท้าชิงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งคู่ต่างแสดงจุดยืนด้านนโยบายว่า ไม่ต้องการ TPP เพราะต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าภายในประเทศมากกว่าพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือทางการค้าของไทยในกลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มมีสัญญาณชัดเจนขึ้นภายในปลายปีนี้หรือปีหน้าหลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันมาแล้วถึง 15 รอบ นายอมรเทพ กล่าวต่อว่า นโยบายไม่ต้องการ TPP ของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนกำลังช่วยสลายจุดอ่อนของไทยในเชิงการค้า สืบเนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมกับ TPP ตั้งแต่ต้น ซึ่งเดิมได้ส่งผลให้ไทยเสียความน่าสนใจในการลงทุนให้แก่เวียดนามซึ่งเข้าร่วมกับ TPP ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันประเทศที่เข้าร่วม TPP อย่างญี่ปุ่นอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนามหรือประเทศอื่นๆที่เข้าร่วม TPP ได้ ทำให้ไทยอาจเสียเปรียบเวียดนามในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยก็จะเสียเปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเนื่องจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามจะได้สิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิ GSP และข้อตกลง TPP รวมทั้งต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทั้งนี้ งานศึกษาของต่างประเทศระบุว่าเวียดนามได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม TPP ดังนั้น หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายไม่ต้องการ TPP ขึ้นมา ทำให้เวียดนามไม่มีความได้เปรียบไทยมากนัก อีกทั้งยังทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยยังมีอยู่จากการที่ไทยมีพรมแดนและการคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังเติบโตและนักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์การลงทุน นอกจากนี้ ไทยเองต้องพยายามเดินหน้าความร่วมมือกับกับประเทศในเอเชียมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการที่สหรัฐฯ กำลังจะเปลี่ยนนโยบายการค้ามาเน้นผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้นและลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศลง ซึ่งนโยบายนี้ของสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากการที่ไทยเป็นคู่ค้าของสหรัฐฯและไทยเป็นคู่ค้าของจีนที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ในเมื่อ TPP มีความล่าช้าทำให้อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เครื่องจักรกล ที่คาดว่าจะสูญเสียความสามารถการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นให้กับประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะมาเลเซีย ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมยาที่ TPP ได้กำหนดมาตรฐานยารักษาโรคให้สูงขึ้น ส่งผลให้ราคายานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนำเข้ายา ด้านนโยบายการคลัง ตัวแทนผู้สมัครทั้งสองคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ หนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้น มีรายงานว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ที่ 77% ของจีดีพี แต่จากนโยบายของคลินตัน คาดกันว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯจะขยับขึ้นเป็น 86% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 10 ปี แต่ภายใต้นโยบายของทรัมป์ หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นมากกว่าโดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 105% ของจีดีพี

คลินตันต้องการเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตขึ้นโดยชนชั้นกลาง นโยบายจึงมุ่งไปที่การเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การสร้างงานจากกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ภาคการผลิต และโอกาสที่มากขึ้นจากโครงการพลังงานสะอาด ขณะที่ผู้ร่ำรวยจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งตรงข้ามกับ นโยบายของทรัมป์ที่ต้องการเก็บภาษีผู้ร่ำรวยน้อยลงและมุ่งมั่นที่จะนำงานมาให้คนอเมริกันภายใต้แคมเปญ “ทำอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again) โดยทรัมป์มองว่าภายใต้นโยบายเศรษฐกิจของเขานี้โดยเฉพาะการลดภาษีจะทำให้จีดีพีของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ “ถึงตรงนี้ผมคิดว่านโยบายเศรษฐกิจของตัวแทนผู้สมัครทั้ง 2 คน ค่อนข้างเป็นที่กังขา หากยึดข้อมูลบนพื้นฐานของการคาดการณ์จากสำนักงบประมาณของสหรัฐฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะพบว่า ยอดขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 2.9% ของจีดีพีมาเป็น 8.8% ของจีดีพี โดยการใช้จ่ายด้านประกันสังคมจะขยับขึ้นจาก 4.9% ของจีดีพีในปัจจุบันเป็น 6.3% ของจีดีพี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพจะขยับขึ้นจาก 5.5% ของจีดีพีในปัจจุบันเป็น 8.9% ของจีดีพี ตรงจุดนี้ ชี้ให้เห็นว่าในอนาคตนั้น รายจ่ายภาครัฐมากกว่าครึ่งจะเกี่ยวข้องกับสิทธิ/ข้อผูกพัน ซึ่งหนีไม่พ้นว่าหนี้สาธารณะจะต้องสูงขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่หาหนทางขึ้นภาษีหรือลดรายจ่ายอื่นลงไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการคลังในอนาคตทั้งสิ้น ปัญหาการคลังอาจปะทุขึ้นถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลักมาจากคนละพรรคกันกับประธานาธิบดีซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะปิดหน่วยงานราชการสหรัฐฯ (Government Shutdown) ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ” ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หากมีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล บริษัทจะสามารถผลักภาระภาษีไปให้แรงงานได้ผ่านการลดค่าจ้าง ในทางกลับกัน หากทรัมป์ มีนโยบายลดภาษีให้ธุรกิจ ก็คาดว่าจะสามารถช่วยคนงานที่มีรายได้น้อยได้ผ่านการจ้างงานและการเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเร่งแรงขึ้นได้จนภาระหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มไม่สูง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการไหลกลับของเงินทุนไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยนหรือทองคำในระหว่างที่เกิดภาวะความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะในกรณีที่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ในทางกลับกัน หากคลินตันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ก็มีความเป็นไปได้ว่า นักลงทุนจะมีความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คาดว่าความผันผวนนั้นจะเป็นเพียงชั่วคราว เพราะตลาดจะให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ในช่วงกลางเดือนธันวาคมต่อไป ซึ่งทางสำนักวิจัยมองเงินบาทปลายปีนี้ที่ระดับ 35.50 ในกรณีคลินตันและ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรณีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

สำหรับ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย สำนักวิจัยคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมตามที่คาดการณ์ไว้ แม้หากทรัมป์ได้รับการเลือกมาเป็นประธานาธิบดีและส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนก็ตาม เนื่องจากเชื่อว่า เฟดจะดูปัจจัยพื้นฐานในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นและการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เพราะหากพูดแล้วไม่ทำตามคำพูดก็จะเสียความน่าเชื่อถือได้ มองต่อไป อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปีหน้าก็มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องได้ เพียงแต่ไม่น่าเร่งตัวแรง โดยนโยบายเศรษฐกิจของทั้งทรัมป์และคลินตันน่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โตได้ดีกว่าในปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ระดับอัตราดอกเบี้ยอาจแตกต่างกันในกรณีของทรัมป์และคลินตัน โดย สำนักวิจัยมองว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์น่าจะสามารถเร่งการเติบโตในระยะสั้นได้ดีกว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อภาระหนี้ในระยะยาวก็ตาม ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปลายปีหน้าขยับสูง 2 ครั้งไปอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% แต่หากคลินตันได้รับเลือก อัตราดอกเบี้ยอาจขยับขึ้นได้เพียงครั้งเดียวอยู่ที่ 0.75-1.00% ปลายปีหน้า “สำหรับ อัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น สำนักวิจัยมองว่ายังไม่น่าจะขยับขึ้นตามสหรัฐฯแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแต่ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ทั้งนี้ นักลงทุนอาจติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยเพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางสำนักวิจัยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะคงที่ระดับ 1.50% ต่อปีจนถึงปลายปีหน้า” นายอมรเทพ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ