นายกฯ ย้ำการแก้ปัญหาน้ำต้องทำทั้งระบบ วางเป้าหมายระยะยาว/เห็นชอบ 5 มาตรการรองรับภัยแล้งปี 59-60

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 23, 2016 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนปฏิบัติการ ปี 2561 รวมถึงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ และแผนปฏิบัติการ ปี 2561 ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าว ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี พร้อมจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ให้สอดคล้องต่อความต้องการของพื้นที่ ตามเป้าหมายที่กำหนดในยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพยากร สำหรับกรณีในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีปัญหารุนแรงให้หน่วยงานร่วมกันพิจารณาในลักษณะบูรณาการเชิงพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำ และเพื่อให้โครงการมีผลสัมฤทธิ์ชัดเจน

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการการปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ (พ.ศ.2558-2569) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และปรับปรุง ขยายเพิ่มเติมทิศทางเป้าหมายยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำจากปี 2558 ถึง 2569 เป็นปี 2558 ถึง 2579 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามภารกิจในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรจัดทำกรอบแนวทาง เป้าหมาย ตัวชี้วัด จัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามที่ฝ่ายเลขานุการ กนช. เสนอ และมอบหน่วยงานให้รับผิดชอบแต่ละยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 กรมทรัพยากรน้ำ ยุทธศาสตร์ที่ 2 กรมชลประทาน ยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมชลประทาน ยุทธศาสตร์ที่ 4 กรมควบคุมมลพิษ ยุทธศาสตร์ที่ 5 กรมป่าไม้ และยุทธศาสตร์ที่ 6 กรมทรัพยากรน้ำ แล้วจัดส่งฝ่ายเลขานุการ กนช. เพื่อวิเคราะห์สรุปรวบรวมเสนอในที่ประชุมฯ เพื่อพิจารณาต่อไป อีกทั้ง เห็นชอบมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึงปี 2559-2560 ตามแนวทางที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอใน 5 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 2.มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 3.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 4.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และ 5.มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรกรประสบภัย ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาถึงแนวทางการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล การเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเพื่อให้สามารถรับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจาก 3,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 4,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดความเสี่ยงกรณีน้ำหลากในอนาคตจะเกิดถี่ขึ้น 3-7 ปี/ครั้ง

นอกจากนี้ ได้รับทราบผลการดำเนินงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรายงานผลการดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้สถานการณ์น้ำในภาพรวมดีขึ้นกว่าปี 2558 ร้อยละ 20 ซึ่งได้กำชับให้ทุกส่วนราชการคำนึงถึงความต้องการประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำว่า ต้องมีระบบการกระจายน้ำเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน มีน้ำมั่นคงในภาคการผลิต โดยทุกส่วนราชการต้องปรับการบริหารงบประมาณเพื่อให้มีระบบกระจายน้ำในทุกๆ แหล่งน้ำให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ