(เพิ่มเติม1) รมว.พลังงาน สั่งผู้ค้าฯรายงานปริมาณเอทานอลช่วง 1 ธ.ค.59-28 ก.พ.60 หวังนำข้อมูลวิเคราะห์แก้ปมขาดแคลน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2016 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การตึงตัวของการผลิตเอทานอลในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เนื่องจากฤดูกาลเปิดหีบอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเลื่อนออกไปจากระยะเวลาเดิมตามแผนที่กำหนด จึงอาจส่งผลกระทบกับการจัดหาของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์บางราย โดยเฉพาะรายที่มีปริมาณเอทานอลคงเหลือต่ำ

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์เอทานอลอย่างใกล้ชิด ให้สามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาการขาดแคลนเอทานอลได้ทันท่วงที และเพื่อมิให้กระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รมว.พลังงาน จึงสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ค้าที่เป็นผู้ผลิตเอทานอล และที่เป็นผู้ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์เพื่อจำหน่าย ต้องรายงานปริมาณการผลิต การซื้อ การจำหน่าย ปริมาณการใช้ผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ และปริมาณเอทานอลคงเหลือรายวันให้กรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในเวลา 10.00 น. ของวันทำการถัดไปทุกวัน ตามแบบที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 หากไม่รายงานจะมีโทษปรับ 5 หมื่นบาท หรือจำคุก 6 เดือน

นอกจากนี้ ยังมีการออกตรวจสอบปริมาณการผลิต ปริมาณการจำหน่าย และปริมาณเอทานอลคงเหลือ ณ โรงงานผู้ผลิตเอทานอล และสถานที่เก็บเอทานอลทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงาน และพลังงานจังหวัด ซึ่งเป็นการสอบยันข้อมูลที่ผู้ค้ารายงานว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์ และวางแผนในการแก้ปัญหาการขาดแคลนเอทานอลต่อไป

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้กรมฯเตรียมเรียกผู้ค้าน้ำมันเข้าหารือ และจะเรียกผู้ผลิตเอทานอลเข้าหารือภายในสัปดาห์หน้า เพื่อสอบถามสถานการณ์เอทานอล เพราะหากปริมาณการผลิตเอทานอลเป็นเช่นนี้ กรมฯจึงความกังวลต่อแผนการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E20 ซึ่งตามแผนบริการจัดการน้ำมัน กรมฯเตรียมยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ภายในปลายปี 2560 แต่เมื่อสถานการณ์เอทานอลยังตึงตัว กรมฯจะทบทวนแผนยกเลิกแก๊สโซฮอล์ใหม่ โดยอาจเลื่อนยกเลิกออกไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าเอทานอลมีเพียงพอสำหรับการผลักดันให้ผู้บริโภคหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ที่มีผลให้เกิดการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันทางกระทรวงพาณิชย์ แจ้งให้กรมฯนำข้าวเสื่อมคุณภาพในโกดัง เพื่อนำมาผลิตเอทานอล เบื้องต้นมี 4 ล้านตัน ซึ่งกรมฯจะเข้าไปตรวจสอบคุณภาพ แต่เปอร์เซ็นต์ดีกว่าแป้งมันสำปะหลัง หากสามารถดำเนินการได้ ก็จะส่งผลดีต่อราคาเอทานอลมีราคาถูกลง เนื่องจากคาดว่าราคาข้าวดังกล่าวจะไม่เกิน 1 บาท/กิโลกรัม เทียบกับมันสด อยู่ที่ 1-2 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามเมื่อคิดค่าขนส่งอาจไม่คุ้มค่า ดังนั้น จะต้องประสานกับโรงงานเอทานอลที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโกดังข้าวดังกล่าวเพื่อนำมาผลิตเอทานอลต่อไป

ด้านนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานจะขอซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐบาล เพื่อนำไปผลิตเอทานอลว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือรายงานเข้ามา แต่หากจะซื้อไปผลิตเอทานอลจริง จะต้องผ่านขั้นตอนตามกระบวนการเปิดประมูลข้าว และต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ก่อน

ขณะนี้ ข้าวในสต๊อกมีเหลืออยู่ประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งมีทั้งข้าวเกรดเอ, บี ที่ผ่านมาตรฐาน, ข้าวเกรดซี ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และข้าวเสื่อมสภาพเป็นฝุ่นผง

“ประเด็นที่กระทรวงพลังงานจะขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ 4 ล้านตัน ต้องรอหารืออย่างชัดเจนก่อน ซึ่งมีกระบวนการในการระบายข้าวอยู่แล้ว และคงต้องรอหารือในที่ประชุมนบข.ด้วย ที่ผ่านมาก็ได้ระบายข้าวเสื่อมสภาพบางส่วนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ