ก.เกษตรฯ ส่งมอบที่ดินส.ป.ก. 777 ไร่ในจ.กาฬสินธุ์ให้เกษตรกรใช้เป็นพื้นที่ทำกิน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 9, 2016 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้สหกรณ์การเกษตรบ้านดงกล้วย จำกัด เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินฯ โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ณ หมู่ที่ 4 ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยมอบที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพให้สมาชิกสหกรณ์ใช้เป็นพื้นที่ทำกิน โดยหน่วยงานภาครัฐเข้ามาบูรณาการสนับสนุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับกระบวนการสหกรณ์ ที่ยึดหลักการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า พื้นที่ดังกล่าวมีเนื้อที่จำนวน 777 ไร่ ยึดคืนจากนายทุนที่กระทำผิดกฎหมายกว้านซื้อปลูกไม้ยูคาลิปตัส เมื่อใช้ Agri-map พบว่าดินมีความเสื่อมโทรมจากการปลูกยูคาลิปตัส ไม่เหมาะกับการปลูกพืช เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก.จึงนำมาพัฒนา เพื่อรองรับเกษตรกร 90 ราย โดยจัดสรรพื้นที่เป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1. พื้นที่พักอาศัย เนื้อที่ 225 ไร่ รายละ 2.5 ไร่ 2. พื้นที่แปลงรวม เนื้อที่ 413 ไร่ สำหรับปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ไร่ 3. พื้นที่ส่วนกลาง เนื้อที่ 138 ไร่ สำหรับที่ตั้งสหกรณ์ ศูนย์การเรียนรู้ และ อื่นๆ

ปัจจุบันได้คัดเลือกเกษตรกรเข้าพื้นที่แล้ว 74 ราย เป็นเกษตรกรจากป่าสงวนแห่งชาติแม่เผด 17 ราย และ เกษตรกรที่ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน 57 ราย กระทรวงเกษตรฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าพัฒนาพื้นที่ใช้งบประมาณรวม 36.79 ล้านบาท เช่น การถอนรากไม้ยูคาลิปตัส ปรับพื้นที่ การขุดสระเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง ความจุรวม 40,000 ล้าน ลบ.ม. ถนนสายหลัก/ถนนสายรอง การขุดลอกลำหั้วยตาดไฮ/ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำบาลดาล และ กรมพลังงานทดแทน ร่วมกันจัดทำระบบน้ำบาดาลโดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

สำหรับหลักเกณฑ์ในการจัดสรรพื้นที่จะใช้แผนที่การเกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri Map แล้วมาวิเคราะห์ว่า สภาพที่ดินตรงนี้เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด ซึ่งที่ดินบริเวณนี้ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใดเลย แต่เหมาะกับการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์จึงกำหนดพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นหมู่บ้านเพื่อการปศุสัตว์ และได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตร่วมกันทั้งเกษตรกรในท้องถิ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ