ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 35.63/65 แกว่งแคบ มองแนวโน้มสัปดาห์หน้าอ่อนค่า หาก FOMC ลงมติปรับขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 9, 2016 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.63/65 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียง จากช่วงเช้าที่ระดับ 35.65/68 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทยังผันผวนอยู่ในกรอบแคบๆ ตลาดรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในช่วงวันที่ 12-13 ธ.ค.นี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิน 90% เชื่อว่ารอบนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นจึง คาดว่าเปิดตลาดในสัปดาห์หน้าเงินบาทน่าจะมีทิศทางที่อ่อนค่า

"ตลาดเชื่อว่ามีโอกาสมากกว่า 90% ที่รอบนี้ FOMC จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเงินบาทก็จะอ่อนค่า เพราะมี เงินทุนไหลกลับเข้าไปฝั่งสหรัฐ แต่บาทคงไม่อ่อนค่าไปมากนัก เพราะตลาดรับข่าวนี้มาระยะหนึ่งแล้ว" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า ช่วงต้นสัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60-35.70 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ช่วงเย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 114.41/44 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 114.45/46 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.0622/0625 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0610/0612 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,526.32 จุด เพิ่มขึ้น 0.91 จุด (+0.06%) มูลค่าการซื้อขาย 43,866 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 370.49 ลบ.(SET+MAI)
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% เพิ่มขึ้นจาก
ปี 2559 ที่จะขยายตัวได้ 3% โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกในปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0-1% หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐ
เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จากปีนี้ที่มองว่าปีนี้การส่งออกจะติดลบเล็กน้อยหรือทรงตัวที่ 0% และจากการบริโภคในประเทศเริ่ม
เห็นสัญญาณการฟื้นตัว

ขณะที่ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ คาดว่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ในเดือนธ.ค.59 และไม่สามารถระบุได้ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกี่ครั้ง ส่งผล ให้มีเงินทุนไหลออก และเงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้า เช่น ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้น

  • ธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัว
3.1% เท่ากับปี 2559 เป็นอัตราการเติบโตต่ำอยู่ในอันดับรั้งท้ายของกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออก เป็นรองมาเลเซีย และ
อินโดนีเซีย โดยเห็นว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำ แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ควรเร่งอัตราการเติบโตมากเกินไป โดยไม่ควรทำให้
เศรษฐกิจเติบโตแบบปลอมปลอม เพราะจะมีความเสี่ยงสูง
  • ธนาคารกลางเยอรมนี (Deutsche Bundesbank) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปี 2559 และ 2560 ขึ้น
อีก 0.2% เป็น 1.8% เนื่องจากตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับแนวโน้มค่าจ้าง
  • ธนาคารกลางฝรั่งเศสปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศในปี 2559 และปี 2560 ลง 0.1%
และ 0.2% ตามลำดับ โดยแบงก์ชาติฝรั่งเศสคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฝรั่งเศสจะขยายตัว 1.3% ในปี
นี้ และขยายตัวอัตราเดียวกันในปีหน้า ก่อนจะขยายตัวเร็วขึ้นเล็กน้อยที่ 1.4% ในปี 2561
  • รัฐสภาญี่ปุ่นเตรียมพิจารณาอนุมัติพ.ร.บ. เพื่อรับรองข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ใน
วันนี้ แม้ว่าสหรัฐอาจจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม
  • นักลงทุนจับตาข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และสต็อกสินค้าคงคลังภาค

ค้าส่งเดือนต.ค. ในวันนี้ นอกจากนี้ ยังจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ ขณะที่ผลสำรวจของ

CME Group Fed Watch ระบุว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 93% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็น

ครั้งแรกในปีนี้ และครั้งที่ 2 ในรอบเกือบ 10 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ