ผู้เลี้ยงวอนทุกฝ่ายช่วยกันป้องกันปัญหาขายไข่ราคาต่ำกว่าทุน สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมไก่ไข่

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 24, 2016 09:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำในปัจจุบัน เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อช่วงต้นปี หลายพื้นที่ประสบภัยหนาวเฉียบพลันและเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนกลับมีปัญหาภัยแล้งตามมาอีก ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการให้ผลผลิตไข่ไก่ ทำให้ปริมาณไข่ลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เป็นเหตุจูงใจให้ผู้เลี้ยงทั่วประเทศมีการขยายการเลี้ยงมากขึ้น

ขณะเดียวกันเกษตรกรบางรายทั้งขยายทั้งยืดอายุปลดไก่ไข่ออกไป เพื่อหวังขายไข่เพิ่ม ส่งผลให้มีปริมาณไก่ยืนกรงและไข่มากขึ้น กอปรกับในช่วงที่ผ่านมาภาวะการบริโภคลดลงอย่างชัดเจน ทำให้มีไข่ไก่เหลือสะสมมาก ราคาตกต่ำรุนแรงตั้งแต่ช่วงกินเจถึงปัจจุบัน จนเกษตรกรแทบจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากแบกรับภาระขาดทุนอย่างหนักไม่ไหว

“อาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ก็เหมือนอาชีพเกษตรอื่นๆ ตอนผลผลิตน้อยราคาปรับขึ้น ทุกคนอยู่สบายก็หวังจะได้มากขึ้นอีก จึงขยายการเลี้ยงและยืดอายุการปลดออกไป ทำให้ปริมาณไข่เพิ่มขึ้น ราคาไข่ก็ลดลง เวลาลงราคาไข่จะลงรุนแรงมากเพราะผู้เลี้ยงจะแย่งกันขาย เหตุไข่เป็นสินค้าอายุสั้น ยิ่งเก็บนานยิ่งราคาตก จึงอยากขอร้องให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องหันหน้ามาคุยกัน ร่วมมือกันบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำคือ การจัดการปริมาณแม่พันธุ์ไก่ไข่(PS)ให้เหมาะสม รวมถึงต้องควบคุมอายุการปลดของแม่พันธุ์ ไม่ให้ยืดอายุออกไปอย่างไม่มีการควบคุม" นายสุเทพ กล่าว

สำหรับด้านกลางน้ำ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ควรเลี้ยงไก่ให้สอดคล้องกับตลาดของตนเอง ไม่ใช่เห็นไข่ราคาดีก็ขยายแล้วไปกดดันจะเอาลูกไก่เพิ่ม ที่สำคัญคือไม่ควรยืดอายุการปลดไก่ยืนกรงออกซึ่งจะทำให้วงจรการผลิตเพี้ยน ส่วนปลายน้ำคือ ผู้บริโภค ที่ต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับไข่ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงง่าย เมนูหลากหลาย สะดวก มีประโยชน์ และเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีราคาถูก สามารถบริโภคได้ทุกคน ทุกวัย และทุกวัน ดั่งผลวิจัยที่มีการเผยแพร่กันมากมายทั้งจากต่างประเทศและในประเทศเอง ซึ่ง

"หากทุกภาคส่วนหันหน้ามาคุยกันอย่างจริงใจ และมองผลประโยชน์ของส่วนร่วม ก็เชื่อมั่นว่าผู้เลี้ยงทุกคนจะสามารถร่วมกันสร้างความยั่งยืนในอาชีพของเรา และโดยส่วนตัวมองว่าบริษัทผู้ประกอบการที่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ควรหันมาเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ (GP)เอง เพื่อสร้างเสถียรภาพให้อุตสาหกรรมไก่ไข่ของประเทศ" นายสุเทพ กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไข่ไก่เฉลี่ยประมาณปีละ 15,500 ล้านฟอง ขณะที่การบริโภคไข่ไก่ของคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 4 ดังนั้นผู้บริโภคจึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้อาชีพเลี้ยงไก่ไข่คงอยู่ ด้วยการเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ให้มากขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 220 ฟองต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่อยู่ในระดับ 300-400 ฟองต่อคนต่อปี ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประเมินว่าหากคนไทยทุกคนบริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 20 ฟอง/คน/ปี ก็สามารถช่วยขจัดปัญหาไข่ล้นตลาดและราคาตกต่ำให้หมดไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ