สคร. ประกาศยุทธศาสตร์ สคร. 4.0+ พร้อมกำหนดแผนปี 60 ใน 5 ด้านเพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปรสก.และศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2016 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยยุทธศาสตร์ “สคร. 4.0+ หรือ SEPO 4.0+" ในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564) เพื่อใช้ในการพัฒนาให้ทั้งรัฐวิสาหกิจ และ สคร. เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน และมีคุณธรรม

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ SEPO 4.0+ เป็นการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์กระทรวงการคลัง มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนายุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 หลักการสำคัญ ได้แก่ 1. Strategy การมียุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ยุทธศาสตร์การบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ และยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้รัฐวิสาหกิจมีบทบาทภารกิจที่ชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ

2. Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริหารจัดการ โดยการพัฒนาระบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กระบวนการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ และกระบวนการ PPP ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โดยส่งเสริมการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้สอดรับกับแผน Digital Economy และไทยแลนด์ 4.0

3. Partnership การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เน้นกลไกประชารัฐ สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน 4. Organization การพัฒนาองค์กรและคน สคร. ให้ “SMART" และมีความสุข ปรับปรุงกระบวนงานให้กระชับ สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ทำน้อยได้มาก (Do Less For More) รวมทั้งขับเคลื่อนองค์กรด้วย IT และนวัตกรรม 5. Plus (+) การพัฒนา สคร. ให้เป็นกรมคุณธรรม สอดรับกับนโยบายกระทรวงคุณธรรมของกระทรวงการคลัง

สำหรับแผนการดำเนินงานของ สคร. ในปี 2560 จะประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านรัฐวิสาหกิจ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านรัฐวิสาหกิจ ทำให้บทบาทภารกิจของรัฐวิสาหกิจเกิดความชัดเจน สร้างความเข็มแข็งทางการเงิน พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ให้กับรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ให้ใช้บังคับและการปรับปรุงระบบประเมินผลของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

2. ยุทธศาสตรที่ 2 ด้านหลักทรัพย์ของรัฐ การจัดทำแผนบริหารจัดการหลักทรัพย์เชิงรุก โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการหลักทรัพย์และจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็น รวมทั้งมีการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐมาระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) และการพัฒนาบริหารจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนี่ง เพื่อให้นำหลักทรัพย์ของรัฐมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการร่วมลงทุน จะดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อส่งเสริมให้เกิดโครงการ PPP มากขึ้น ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ตั้งเป้าให้เพิ่มมูลค่าการลงทุนจากความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 47,000 ล้านบาท 4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านบุคลากร สคร. จะเน้นพัฒนาคน สคร. เป็นคนดีและคนเก่ง โดยจัดทำแนวทางการพัฒนาบุคลากร สคร. ให้เป็น SMART PEOPLE และมีคุณธรรม รวมทั้ง สร้างความสุขให้แก่คน สคร. (Happy Workplace) 5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านกระบวนงาน สคร. พัฒนาให้เกิดกระบวนการทำงานในเชิงรุก กระชับ และเน้นผลลัพธ์ รวมทั้งพัฒนา IT และฐานข้อมูลเปิดที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วไป (Open Data) และนำ Digital Platform มาใช้ในการทำงานของ สคร.

"ยุทธศาสตร์ สคร. 4.0+ นี้ เป็นการผนึกแนวคิดและหลักการของไทยแลนด์ 4.0 เข้ากับการดำเนินงานหลักของ สคร. ให้มีความทันสมัย เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในการนำพาประเทศสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยยึดหลักวิสัยทัศน์ของ สคร. คือ เป็นเสาหลักด้านรัฐวิสาหกิจ หลักทรัพย์ของรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการพัฒนา สคร. ให้เป็นกรมคุณธรรม ที่เข้มแข็งจากภายใน โดยเน้นคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อจะเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรมที่จะไปปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป"นายเอกนิติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ