(เพิ่มเติม) นบข.สั่งเร่งระบายข้าวเสื่อมคุณภาพทั้งหมด 1.85 ล้านตันไปสู่ภาคอุตฯให้หมดภายในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2017 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เร่งระบายข้าวในสต็อกทั้ง 8 ล้านตัน โดยเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ 1.85 ล้านตัน ที่จะต้องระบายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งไม่เกี่ยวกับการบริโภคของคนและสัตว์ให้หมดภายในปีนี้

ทั้งนี้ การกระขายข้าวในสต็อกมีเงื่อนไขสำคัญต้องไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแผนบริหารจัดการด้วยการแบ่งคุณภาพข้าวเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ข้าวคุณภาพดี จำนวน 3 ล้านตัน 2.ข้าวคุณภาพปานกลาง จำนวน 3.15 ล้านตัน และ 3.ข้าวอายุเกิน 5 ปี หรือข้าวเสื่อมคุณภาพ จำนวน 1.85 ล้านตัน

นบข.รายงานสถานการณ์ข้าวในปีการผลิต 2559/2560 พบว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้น 9 ล้านตัน จากปริมาณ 472 ล้านตัน เพิ่มเป็น 481 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตในประเทศแถบเอเชียทั้งหมด ส่วนการบริโภคข่าวทั่วโลกก็เพิ่มขึ้น 7 ล้านตัน จากปริมาณ 470 ล้านตัน เป็น 477 ล้านตัน ซึ่งจากปริมาณการผลิตข้าวที่มากกว่าการบริโภค ทำให้มีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านตัน จาก 116 ล้านตัน เป็น 120 ล้านตัน ส่วนปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศไทยโดยรวมขณะนี้มีปริมาณ 30 ล้านตัน

ขณะที่การส่งออกข้าวโลกในปี 59 อินเดียมีปริมาณสูงสุด 10.42 ล้านตัน ไทยส่งออกปริมาณ 9.63 ล้านตัน เวียดนามส่งออกปริมาณ 4.87 ล้านตัน ปากีสถานส่งออกปริมาณ 4.2 ล้านตัน สำหรับราคาข้าวหอมมะลิในเดือน พ.ย.59 อยู่ที่ 587 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และเมื่อวันที่ 4 ม.ค.60 ขยับขึ้นเป็น 633 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนข้าว 5% ราคาใกล้เคียงกัน โดยข้าวไทยราคาอยู่ที่ 358 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ปากีสถานราคาต่ำสุดอยู่ที่ 355 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้เตรียมมาตรการที่จะแข่งขันกับตลาดข้าวในต่างประเทศ โดยจะเน้นการทำสัญญาข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ซึ่งเตรียมส่งมอบข้าวให้กับจีนและฟิลิปินส์ โดยจะส่งมอบให้ฟิลิปปินส์ในเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ปริมาณ 2 แสนตัน พร้อมกันนี้จะมีการเปิดตลาดในแถบตะวันออกกลาง โดยประเทศอิรักและอิหร่านมีความต้องการข้าวจากไทย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ติดตามการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือชาวนาในฤดูการผลิต 2559/2560 ซึ่งมีหลายมาตรการดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว เช่น โครงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ โครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตลดต้นทุนไร่ละ 1 พันบาท โครงการส่งเสริมปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนการปลูกข้าว เป็นต้น แต่ยังมีบางโครงการที่ยังไม่เห็นผล เช่น โครงการลดพื้นที่การปลูกข้าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการเร่งดำเนินคดีความที่ยังคั่งค้างอยู่ ทั้งในส่วนขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) และที่ประชุมฯ เห็นชอบให้นำข้าวสารไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ 1,500 ตัน โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้นำข้าวสำเร็จรูปพร้อมรับประทานไปช่วยเหลือประชาชนด้วย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ รับทราบสถานการณ์การส่งออกข้าว ซึ่งพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีประเทศอินเดียเป็นอันดับหนึ่ง และได้แสดงความยินดีกับข้าวหอมมะลิไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมอนุมัติตั้งสำนักงานบริหารจัดการข้าวครบวงจรในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมกำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือการทำงานร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นทั้งคนปลูกข้าวและคนขายข้าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ได้ดูแลเกษตรกรเป็นอย่างดี โดยมีมาตรการดูแลออกมาถึง 14 มาตรการ คิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ซึ่งจำเป็นที่จะต้องดูแลเกษตกรในด้านอื่นๆ ด้วย และในขณะนี้จำเป็นต้องดูแลในหลายพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ฝากให้ที่ประชุมฯ ไปศึกษาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน โดยที่รัฐบาลเป็นคนควบคุมดูแลและให้การช่วยเหลือ โดยไม่ใช้พื้นที่ป่า และต้องแยกออกจากที่ดิน สปก. ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนในหลายพื้นที่มาแล้ว และในปีนี้จะเร่งดำเนินการจัดสรรให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งยังไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดจะขอความร่วมมือจากเอกชนที่มีที่ดินจำนวนมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์มาร่วมมือกับรัฐบาลในรูปแบบประชารัฐ จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรทำกิน โดยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน ความรู้จากเอกชน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะต้องสร้างการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรในการเรียนรู้การเพาะปลูกอย่างเหมาะสม เพราะหากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอแล้วกลับมาปลูกข้าวอีกจะเจอกับปัญหาเดิม จึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้เพราะรัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับเกษตรกรได้ ทุกอย่างต้องมาจากความร่วมมือ ขณะที่นักการเมืองอย่ามาอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลดูแลเกษตรกรไม่ดี เพราะที่ผ่านมากว่า 40 ปี ทำได้ดีหรือไม่ หากดีแล้วตนเองคงไม่ต้องเข้ามาทำในวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ