กรมบัญชีกลาง พร้อมจ่ายตรงเงินเดือนให้แก่ สพฐ. เริ่มเดือนแรก ม.ค.60

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2017 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.อรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง พร้อมจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำจากกรมบัญชีกลางเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มเดือนม.ค.60 เป็นเดือนแรก จำนวน 420,125 ราย เป็นเงินกว่า 15,619 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2546 โดยเริ่มจากส่วนราชการที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการก่อน จนถึงปัจจุบันมีส่วนราชการเข้าร่วมแล้ว 224 ส่วนราชการ ซึ่ง สพฐ.เป็นหน่วยงานสุดท้ายที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ นอกจากนี้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ให้ส่วนราชการผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน (เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ) ดังนั้น ในกรณีนี้จึงดำเนินการหักภาษีไว้ เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่นที่เข้าร่วมโครงการมาก่อนหน้านี้

โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า โครงการจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำที่ดำเนินการในส่วนของ สพฐ.จะทำให้บุคลากรของ สพฐ. ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินวิทยฐานะผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตรงตามระยะเวลาที่กรมบัญชีกลางกำหนดทุกเดือน ช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารขอเบิก และการโอนเงินและทำให้มีฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐเต็มรูปแบบเพื่อใช้ในการบริหารบุคลากรและงบประมาณได้

สำหรับหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในปี พ.ศ.2559 ส่วนราชการแต่ละแห่งจะจัดส่งหนังสือดังกล่าวให้ข้าราชการ ลูกจ้าง ผู้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญโดยตรง นอกจากนี้กรมบัญชีกลางได้เพิ่มช่องทางการให้บริการของผู้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ โดยสามารถเข้าไปที่ www.cgd.go.th ในหัวข้อบำเหน็จบำนาญ/บำเหน็จค้ำประกัน ซึ่งผู้รับบำนาญที่ยังไม่เคยลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายเงินด้วยตนเองผ่านระบบ E-Filing สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.60 เป็นต้นไป และพิมพ์หนังสือรับรองดังกล่าว ได้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.60 เป็นต้นไป

"กรมบัญชีกลาง ในฐานะหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินและของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยความสำเร็จของโครงการนี้ เกิดจากรัฐบาลและกระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะผลักดันการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดตามโครงการ National e-Payment เพื่อลดการใช้ธนบัตรและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ด้วยการใช้ระบบ e-Payment เพื่อเป็นกลไกสำคัญของการทำธุรกรรมทางการเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเลขาธิการ สพฐ." น.ส.อรนุช กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ