พลังงานชงกพช. 17 ก.พ.นี้เลื่อนกรอบเวลาประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ,แนวทางรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2017 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาเลื่อนกรอบระยะเวลาการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งที่จะหมดอายุในปี 65-66 ออกไปอีก 1-2 เดือนจากเดิมที่กำหนดให้ประมูลเสร็จในเดือนก.ย.60 หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ....และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่) พ.ศ.. ได้ขยายเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับออกไปอีก 1 เดือน เป็นสิ้นสุด 19 ก.พ.60

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานมั่นใจว่าจะต้องเปิดประมูล และรู้ผลผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ต้องการให้เร่งเรื่องการประมูลให้เสร็จโดยเร็ว เพราะหากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศให้เกิดความชะงักและผลิตได้ไม่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังจะเสนอที่ประชุมกพช. พิจารณาแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ เป็นรูปแบบผสมผสานการผลิตไฟฟ้าต่าง ๆ ตามสัญญาที่ได้รับจากภาครัฐ หรือเรียกว่าแบบไฮบริด โดยจะรูปแบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเป็นระบบ Firm ที่จะมีประกันการซื้อไฟฟ้า แต่อาจจะดำเนินการในบางช่วงเวลา จากปัจจุบันที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) บางรายจะมีสัญญาระบบ Firm และบางรายอาจเป็น Non Firm ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) จะเป็นสัญญาระบบ Non Firm โดยจะพยายามให้เปิดการผลิตไฟฟ้าระบบดังกล่าวภายในปี 60 จากที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปีนี้ราว 1,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจะใช้วิธีประมูลแข่งขัน ซึ่งจะพิจารณาจากอัตราการขอรับเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) สำหรับการผสมผสานเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวนั้น จะเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการเลือกเชื้อเพลิงเองได้ไม่จำกัด แต่ต้องผลิตให้ได้ตามสัญญา Firm โดยกำลังพิจารณาว่าจะกำหนดให้ Firm แบบ 24 ชั่วโมง หรือกำหนดช่วงระยะเวลา

ด้านนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ.เตรียมเสนอ กพช. พิจารณาอนุมัติหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ของกลุ่ม SPP และ VSPP ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน(ไฮบริด) ในรูปแบบสัญญา Firm และรูปแบบสัญญา Semi Firm เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

เบื้องต้นสัญญารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ SPP จะกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง 12 เดือน ส่วนสัญญารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ VSPP จะกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องเพียง 3-6 เดือน โดยเฉพาะในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) เนื่องจากมีข้อจำกัดปริมาณเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า โดยหากหลักเกณฑ์ดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากกพช.แล้ว หลังจากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็จะพิจารณาออกประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าต่อไป ส่วนปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อนั้น ยังจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาก่อน

นอกจากนี้ พพ.ยังเตรียมนำเสนอ กพช.พิจารณาให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 25 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งรวม 5 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 2-3 บาท/หน่วย และจะไม่มีการให้เงินส่วนเพิ่มในการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT เพราะไม่ได้เป็นโครงการที่แสวงกำไร โดยโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 100 กิโลวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ