(เพิ่มเติม) นักวิชาการ มองโอกาสไทยขึ้นดอกเบี้ยปลายปี 60 หวั่นกระทบหนัก 5 อุตฯเป้าหมาย แนะรัฐใช้มาตรการหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2017 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านต่างประเทศ เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ, แนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่, ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการเมืองในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นในช่วงปลายปี 60 เพื่อปรับสมดุลและรับมือกับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปีมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เท่ากับว่าต้นทุนทางการเงิน และต้นทุนในการประกอบการอื่นๆ ของภาคเศรษฐกิจจะสูงขึ้นด้วย โดยแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซึ่งผลจากงานวิจัย "ผลของนโยบายการเงินต่อระบบเศรษฐกิจ : ฝนตกไม่ทั่วฟ้า" ที่ได้ศึกษาผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออัตราผลตอบแทนในภาคเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลา 24 เดือน พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, โลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ยานยนต์สมัยใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้าง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการขึ้นดอกเบี้ย โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ย 1.098% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เป็นฐานการผลิตของประเทศ

ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์, การท่องเที่ยวและการพักผ่อน, การบริการทางการแพทย์ กลุ่มยา และพาณิชยกรรม มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ยเพียง 0.339% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจน้อย อันสะท้อนให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ดังนั้น ภาครัฐจึงควรดำเนินมาตรการการเงินอื่นๆ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น การส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สินเชื่อพิเศษ การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงิน-ชำระเงิน ฯลฯ เพื่อเป็นการเหยียบคันเร่ง ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0" นายธีรวุฒิ กล่าวในงานสัมมนา "เส้นทางเศรษฐกิจไทย บนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก"

พร้อมระบุว่า นอกจากผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังส่งผลกระทบในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยแตกต่างกันไป อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค โดยผลงานวิจัยระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับเงินเฟ้อสูงที่สุดในภาคกลาง แต่มีผลอย่างอ่อนๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และไม่มีประสิทธิภาพสำหรับภาคตะวันตก และภาคใต้

เพราะฉะนั้น นอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เกิดความสมดุลของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศแล้ว ภาครัฐควรศึกษาและดำเนินมาตรการการเงินที่สอดคล้องกับกิจกรรม และภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภาพย่อย อันจะสะท้อนกลับมาเป็นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่ยั่งยืน

ด้าน น.ส.ษิณา ทับทิมพรรณ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็น "การปรับตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย กับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ" ว่า ตลาดเงินและตลาดทุนโลกในช่วงระยะหลังปี 2551 มีความผัวผวนอย่างมาก ซึ่งสะท้อนได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนี Fear lndex (VIX index) ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สำคัญในการสะท้อนความกังวลใจของนักลงทุนต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากความผัวผวนดังกล่าวผ่านช่องทางตลาดการเงินประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางธนาคารพาณิชย์ และช่องทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่งผลไปยังเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนวิกฤตทางการเงินในปี 2540 ธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนแหล่งใหญ่ ทุกๆ ครั้งที่เกิดความผัวผวน จากปัจจัยภายนอกประเทศ ธนาคารพาณิชย์จำเป็นที่จะต้องปรับตัว ส่งผลให้เกิดแรงกระทบต่อภาคเศรษฐกิจมาโดยตลอด 20 ปี

จากการศึกษาในประเด็นการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ จากความผัวผวนดังกล่าว ส่งผลให้เกิดแรงกระทบต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด ผ่านแบบจำลอง Structural Vector Autoregressive Model พบว่า ในปัจจุบันการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์จากความผันผวนดังกล่าว ก่อให้เกิดแรงกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับงานศึกษาในอดีต ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการพัฒนาตลาดการเงินในประเทศไทย หลังปี 2540 โดยบทบาทของสินเชื่อธนาคารลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดทุน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดการเงินนี้สอดคล้องกับงานศึกษาในต่างประเทศ ที่แนะนำให้ประเทศกำลังพัฒนาดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงสินเชื่อจากธนาคารเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ยังพบว่าในระยะหลังปี 2553 แม้ว่าภาคธนาคารยังคงมีบทบาทสำคัญ สินเชื่อต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทสูงขึ้นอย่างมาก ในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าใกล้เคียงกับสินเชื่อของธนาคาร บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ต่อภาคเศรษฐกิจไทยจึงเป็นที่น่าจับตามอง

"การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ยังมีบทบาทอยู่ แต่บทบาทนั้นมีการปรับตัวลดลงจากการลดการพึ่งพิงของแหล่งเงินทุนเพียงแหล่งเดียว ก่อให้เกิดความเสี่ยง แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมีบทบาทอยู่ และสินเชื่อยังมีสัดส่วนที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับ GDP ของประเทศ แม้ว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต และการปรับตัวของภาคธนาคารยังมีผลต่อการรับแรงกระทบกระแทกจากบางประเทศอยู่ ฉะนั้นการดูแลภาคธนาคารให้มีความเข็มแข็งจึงมีความจำเป็น จากการศึกษาพบว่าถ้าธนาคารเข้มแข็งจะสามารถลดเวลาของการที่เศรษฐกิจปรับตัวลงได้" น.ส.ษิณา กล่าว

นายวศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็น "การพยากรณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยด้วยข้อมูลตลาดทุน" ว่า จากการศึกษาผ่านแบบจำลองกลุ่ม Mixed Data Sampling (MIDAS) (แบบจำลองดังกล่าวมีความสามารถในการนำเอาข้อมูลในตลาดทุน ซึ่งเป็นข้อมูลทางการเงิน ที่มีระดับความถี่ของข้อมูลสูง ในการใช้พยากรณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาส ซึ่งจัดเป็นข้อมูลความถี่ต่ำ) พบว่า แบบจำลองกลุ่ม MlDAS สามารถดึงเอาข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน มาใช้พยากรณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าแบบจำลองมาตรฐาน ซึ่งใช้ค่าเฉลี่ยของกลุ่มข้อมูลความถี่สูงในการพยากรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความผัวผวนทางการเงินสูง โดยสามารถลดค่าความคาดเคลื่อนจากการพยากรณ์เมื่อเทียบกับแบบจำลองมาตรฐานได้ถึง 65%

อย่างไรก็ตาม จากการใช้แบบจำลองดังกล่าง ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 60 ผ่านข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย พบว่า อัตราการขยายตัวในไตรมาส 1/60 จะอยู่ในกรอบ 3.48-3.6% ซึ่งยังไม่ได้รวมปัจจัยในเรื่องของผลกระทบจากน้ำท่วม และนโยบายต่างๆของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์

ด้านนายพิสุทธิ์ กุลธนวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็น "บทบาทของเงินทุนเคลื่อนย้ายต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของไทย" ว่า เงินทุนที่เข้ามาลงทุนโดยตรง (Inward FDI) ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 ในขณะที่เงินทุนในหลักทรัพย์ (Inward FPI) เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 โดยมีความผัวผวนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเงินทุนที่คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศนั้น มีทั้งประเภทการลงทุนโดยตรง และการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2546 เป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายกฎ ระเบียบ หรือมาตรการที่เกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมากขึ้น ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายแต่ละประเภท อาจจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนแตกต่างกัน

จากงานศึกษา พบว่า เงินทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งที่ไปลงทุนโดยตรง และลงทุนในหลักทรัพย์ ส่งผลให้สกุลเงินบาทอ่อนค่า ขณะเดียวกันปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยได้มีบทบาทสำคัญต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ และการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตของไทย รวมถึงรายได้ต่อคนเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ทำให้สกุลเงินบาทแข็งค่าขึ้น

"เงินทุนเคลื่อนย้ายมีบทบาทที่แท้จริง แต่น้อยกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเงินทุนของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศโดยตรง หรือลงทุนในหลักทรัพย์ จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ถ้าเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าก็คงจะส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น" นายพิสุทธิ์ กล่าว

พร้อมแนะว่า ทางการจะต้องเข้ามาส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน อย่างไรก็ตามความผัวผวนของอัตราแลกเปลี่ยนถือว่าเป็นของคู่กัน และในปีนี้ความผันผวนก็มีค่อนข้างสูง ดังนั้นการออกไปลงทุนภายนอกประเทศ นักลงทุนจะต้องมีความระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ