พาณิชย์เผยเครือข่ายร้านค้าปลีก-ส่งกว่า 2 หมื่นแห่ง พร้อมร่วมร้านธงฟ้าประชารัฐ ช่วยลดค่าครองชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2017 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการร่วมมือกันผลักดันร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งร้านค้าส่งที่มีอยู่ 114 ร้านค้า 545 สาขาใน 65 จังหวัด พร้อมจะให้ความร่วมมือในการกระจายสินค้าที่ขายในร้านธงฟ้าประชารัฐไปยังร้านค้าปลีกที่เป็นเครือข่ายราว 22,400 ร้านค้า เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันยังจะมีร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (ร้านโชห่วย) ในแต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้านทั่วประเทศ เข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐด้วย

"concept ของร้านธงฟ้าประชารัฐนั้น กระทรวงฯ จะใช้ช่องทางของร้านค้าส่ง ค้าปลีก ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ความช่วยเหลือเป็นทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐจัดมุมเพื่อขายสินค้าราคาถูก แต่เป็นสินค้าคุณภาพและเป็นแบรนด์ที่ขายอยู่แล้วในท้องตลาดทั่วไป และเป็นช่องทางกระจายสินค้าไปยังร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่เป็นร้านค้าปลีกในเครือข่ายของร้านค้าส่งเหล่านี้ รวมถึงร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการด้วย" รมช.พาณิชย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะหารือกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ทุกค่ายว่ารายใดสนใจจะผลิตสินค้าใดให้กับร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นยี่ห้อเดียวกับที่ผู้ผลิตรายนั้นๆ ผลิต และจำหน่ายในท้องตลาดอยู่แล้ว แต่อาจจะลดต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ หรือปรับลดส่วนผสมบางอย่าง เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง แต่ยังเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานเหมือนเดิม เพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาถูกกว่าในท้องตลาด โดยจะเน้นเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก รวมถึงข้าวสาร น้ำตาลทราย และน้ำมันพืชด้วย

ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้นั้น นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในเดือนก.พ.นี้ กระทรวงฯ จะจัดคาราวานธงฟ้านำสินค้าจำเป็นไปจำหน่าย เริ่มตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ลงไป เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และยังสั่งการให้สำนักงานพาณิชจังหวัดในพื้นที่ติดต่อกับเกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรเข้าร่วมคาราวานด้วย

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ ได้หารือกับห้างค้าปลีกชั้นนำ เช่น บริษัท เซ็นทรัล ฟู๊ดรีเทล จำกัด เพื่อร่วมกันจัดหาพื้นที่จำหน่ายผลผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยเบื้องต้นจะนำส้มโอทับทิมสยามปากพนังไปจำหน่ายในท็อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนสินค้า GI อื่นๆ เช่น ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กล้วยเล็บมือนาง จ.ชุมพร หอยนางรมสุราษฎร์ธานี จะตรวจสอบความเสียหายและสอบถามเกษตรกรว่าต้องการให้ความช่วยเหลืออย่างไร ก่อนที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือต่อไป

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาอุทกภัยจนทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้อง คำขอต่ออายุ ชำระค่าธรรมเนียม หรือดำเนินการอื่นใดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยได้ออกประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาดำเนินการ และหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเจ้าหน้าที่กรมฯ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ภายใน 15 วันนับแต่สถานการณ์อุทกภัยได้สิ้นสุดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ