(เพิ่มเติม) TMB ประเมิน GDP ไทยปี 60 โต 3.5% คาด กนง.คงดอกเบี้ยตลอดทั้งปีหนุน ศก.ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2017 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารทหารไทย (TMB) ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 60 นี้จะเติบโตที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของภาครัฐและรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ

พร้อมกันนี้ TMB ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.4% โดยเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คาดว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้ TMB ประเมินว่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงสิ้นปี หลังจากที่คาดว่าดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน TMB เปิดเผยถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนปี 60 ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มจะขยายตัวที่ระดับ 3.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3% โดยจะมาจากการลงทุนภาครัฐ และภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ ซึ่งแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่มีต่อภาคเอกชนจะยังไม่มีผลมากนักในปีนี้

ภาคการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้การส่งออกเติบโตประมาณ 1.5% แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดน้อยลง เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นของการนำเข้า โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.0% จาก 0.4% ในปี 59 เป็นผลจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น โดยที่แรงกระตุ้นจากฝั่งอุปสงค์ ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

"ปัจจัยในประเทศที่ยังต้องติดตามดู คือ การปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างไร ซึ่งภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันดับต้นๆ และการเบิกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ จะสามารถทำได้ตามแผนแค่ไหน"

นอกจากปัจจัยพี้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว การเคลื่อนไหวของปัจจัยทางการเมืองก็มีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งในปีนี้การเคลื่อนไหวของปัจจัยทางการเมืองจะยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ในยุโรปจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศไม่ว่าจะในเนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งในภาวะกระแสชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป ผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ในกลุ่ม EU จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกลุ่ม และจะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ต้องจับตามองความสามารถในการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าตามที่ได้หาเสียงไว้ว่าจะปฎิบัติได้จริงและมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันตลาดการเงินได้พุ่งความสนใจไปยังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาษี การลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การลดกฎระเบียบต่างๆ และมาตรการที่กระตุ้นให้บริษัทสหรัฐฯ นำเงินกำไรที่อยู่นอกประเทศกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งการคาดหวังในมาตรการเหล่านี้ทำให้ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น และผลตอบแทนตราสารหนี้ในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงินยังไม่แน่ใจต่อมาตรการกีดกันการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานว่าจะออกมารุนแรงอย่างที่ ทรัมป์ หาเสียงไว้หรือไม่

อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนเหล่านี้จะก่อให้เกิดความผันผวน และทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ตลอดปี 60

การดำเนินนโยบายของนายทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ลดภาษี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแตกต่างจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่พึ่งนโยบายการเงินเป็นหลัก ผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำใกล้ 0% และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (QE Program) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อัตราการว่างงานที่ต่ำ และ Trumpolicy ส่งผลให้ตลาดการเงินมีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในอนาคตจะมีการปรับตัวสูงขึ้น และนโยบายการเงินมีความสำคัญน้อยลง โดยในการประชุม FOMC (Federal Open Market Committee) ของสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค.59 คณะกรรมการฯ ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 1.36% เมื่อกลางปี 59 มาอยู่ในระดับ 2.46% ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ TMB คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในปี 60 โดยน่าจะปรับขึ้นในช่วงกลางปี และปลายปีนี้ ขณะที่นโยบายการเงินของกลุ่มประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นยังคงผ่อนคลาย (Policy Divergence) ความแตกต่างดังกล่าวจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

สำหรับประเทศไทย TMB คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee - MPC) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับ 1.5% ไปตลอดทั้งปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่สภาพคล่องของระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูงแต่มีแนวโน้มลดลง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้จะผันผวนและได้รับอิทธิพลจากตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 1.56% เมื่อกลางปี 59 มาอยู่ที่ระดับ 2.67% ในปัจจุบัน

ขณะที่ มองว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีก โดยภาพรวมนักลงทุนจะเผชิญกับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะตราสารระยะกลางถึงยาว (Steepening Yield Curve) ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยสภาพคล่องในระบบจะเริ่มลดลง จากการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าปีนี้ความต้องการสินเชื่อจะสูงขึ้นจากปี 59 และการระดมทุนของภาครัฐผ่านการกู้ยืมและการออกหลักทรัพย์เพื่อรองรับการใช้จ่ายโครงการลงทุน เช่น การออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ดังนั้นจะมีผลกระทบทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากมีความต้องการสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นมากจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

"การออกหุ้นกู้ของเอกชนปีนี้น่าจะลดลง เพราะต้นทุนไม่ต่างจากดอกเบี้ยธนาคาร ซึ่งเชื่อว่าปีนี้จะเห็นธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และ ดอกเบี้ยเงินกู้ สวนทางกับกนง.ที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ยทั้งปีที่ 1.5%" นายศรัณย์ กล่าว

สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ ผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้มองตลาดการเงินมีความคาดหวังต่อ Trumpolicy ค่อนข้างสูง รวมถึงการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ดอลล่าร์สหรัฐฯยังอยู่ในแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในครึ่งแรกนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามถึงสามารถในการดำเนินนโยบายที่ ทรัมป์ประกาศไว้ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะพบอุปสรรคในทางปฏิบัติ และหากนโยบายหลายอย่างไม่เป็นตามที่ตลาดการเงินรับรู้ จะมีผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่า ประกอบกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของกลุ่ม EU น่าจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และการเผชิญข้อจำกัดของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน จะกดดันให้ค่าเงินยูโรและเงินเยนแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

ส่วนค่าเงินบาท TMB คาดว่าปลายปี 60 จะอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ โดยระหว่างปีมีโอกาสแกว่งตัวอ่อนค่าจากปัจจัยต่างประเทศ แต่ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความชัดเจนทางด้านการเมือง จะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

"สิ่งที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทมากๆ คือเรื่องของการเมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความผัวผวนในปีนี้พอสมควร แต่ถ้าเทียบกับปีก่อนยังน้อยกว่าเล็กน้อย จากปีก่อนมีค่าความผันผวนถึง 5% แต่หากเทียบกับเพื่อนบ้านค่าเงินบาทไทยยังมีเสถียรภาพมากกว่า จากปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะสามารถรองรับความผันผวนได้ โดยคาดค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ 35.50 บาท/ดอลลาร์ จากปีก่อนอยู่ที่ 35.80 บาท/ดอลลาร์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ